โกรงโกโร….ภูเขาไฟในแทนซาเนีย


 

  บทความและภาพถ่ายโดย สุภาศิริ อมาตยกุล

เมื่อครั้งที่ดิฉันได้ติดตามเอกอัครราชทูตอัครสิทธิ์ อมาตยกุลไปปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่ประเทศเคนยา (Kenya)  ระหว่างปีค.ศ. 2004-2005 เรามีโอกาสเดินทางไปประเทศแทนซาเนีย (Tanzania) หลายครั้ง แทนซาเนียอยู่ทางตะวันออกของทวีปแอฟริกา มีชายฝั่งตะวันออกติดกับมหาสมุทรอินเดีย และทิศเหนือติดกับยูกันดาและชายแดนตอนใต้ของเคนยา
        ครั้งหนึ่งที่ไปแทนซาเนีย เราได้เดินทางไปชมปล่องภูเขาไฟและดูสัตว์ป่าในเขตอนุรักษ์โกรงโกโร (Ngorongoro Conservation Area) โดยเช่ารถพร้อมคนขับจากบริษัทท่องเที่ยวเพื่อเดินทาง เป็นรถตู้เปิดหลังคาเพื่อปีนขึ้นไปดูสัตว์ได้ และรถตู้ก็เหมาะสำหรับการเดินทางระยะไกล ส่วนคนขับนั้น ต้องเป็นผู้ที่ได้รับใบอนุญาตให้ขับเข้าไปในอุทยานแห่งชาติหรือเขตอนุรักษ์เพื่อชมสัตวป่าได้ด้วย อีกทั้งต้องมีความเชี่ยวชาญในเรื่องเส้นทางตลอดจนการนำชมสัตว์ป่าที่เรียกกันว่า “ซาฟารี” นั่นเอง เพราะคนรถสามารถติดต่อวิทยุสื่อสารกับศูนย์ในอุทยานแห่งชาติหรือเขตอนุรักษ์สัตว์ป่าได้เมื่อจำเป็น และยังต้องรู้ทางในการ ขับรถพาชมสัตว์ที่อยู่กันกระจัดกระจายตามที่ต่างๆ เพราะพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาลมาก
        ที่สำคัญคือ คนขับต้องรู้จักวิธีปฏิบัติที่จะหลบหรือหลีกเลี่ยงหากเผชิญกับสัตว์ดุร้ายหรือฝูงสัตว์ป่าที่กำลังต่อสู้ไล่ล่าระหว่างกัน หรือแม้แต่เมื่อสัตว์ป่าเหล่านั้นเริ่มเห็นว่าคนที่ไปเฝ้าดูเป็นภัยของพวกเขา ซึ่งตามกฎระเบียบนั้น อุทยานแห่งชาติหรือเขตอนุรักษ์ต่างๆ จะไม่อนุญาตให้นำรถหรือคนขับส่วนตัวเข้าไปขับชมสัตว์ป่ากันเอง เพราะเกรงว่าจะเป็นอันตรายได้ เจ้าหน้าที่คุ้มครองอุทยานหรือเขตอนุรักษ์จะดูแลควบคุมอย่างใกล้ชิด
        นอกจากนี้ การขับรถชมสัตว์ป่าในพื้นที่อันกว้างใหญ่เช่นนี้ต้องไปตามทางที่เขากำหนดไว้ให้อย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้พลัดหลงเกิดอันตราย หรือไปรบกวนสัตว์และทำลายระบบนิเวศน์ได้ เส้นทางที่กำหนดไว้นั้น เป็นทางธรรมชาติในพื้นที่อุทยานหรือเขตอนุรักษ์นั่นเอง อาจเป็นไปตามแนวลำน้ำ พื้นดิน ทุ่งหญ้า ป่าไม้ หรือพุ่มไม้ ซึ่งไม่ใช่เส้นทางปูลาดหินหรือซีเมนต์แต่อย่างใด ดังนั้น นักท่องเที่ยวทั่วไปจะไม่ทราบว่าเส้นทางใดคือพื้นที่ที่ถูกกำหนดไว้ให้รถวิ่งได้ และจะไม่ทราบด้วยว่าควรวิ่งรถไปทางใดหรือจะต่อไปที่ไหน คนขับรถของบริษัทท่องเที่ยวที่มีใบอนุญาตและที่ได้รับการฝึกฝนมาอย่างดีเท่านั้นที่สามารถขับรถพานักท่องเที่ยวไปชมสัตว์ป่าภายในเขตอุทยานหรือเขตอนุรักษ์ได้
         สำหรับนักท่องเที่ยวที่ไปชมสัตว์ป่า ต้องอยู่แต่ในรถเท่านั้น ห้ามลงจากรถระหว่างการดูสัตว์ป่า  เป็นอันขาด เพราะอันตรายถึงชีวิตได้และยังถือเป็นการผิดกฎหมายด้วย รถที่นำชมสัตว์ป่ามักจะมีหลังคาที่เปิดให้เราขึ้นไปปีนดูสัตว์จากที่สูงได้ หรืออาจเป็นรถที่เปิดด้านข้างแต่มีกรงเหล็กกั้นไว้อย่างดี
        ในแทนซาเนียมีอุทยานแห่งชาติและเขตอนุรักษ์สัตว์ป่าอยู่หลายแห่ง อุทยานแห่งชาติคือพื้นที่ที่สงวนโดยสิ้นเชิง ห้ามมิให้ผู้คนเข้าไปตั้งถิ่นฐานหรือทำมาหากินในบริเวณนั้น อีกทั้งยังได้รับการดูแลบริหารจัดการจากองค์กรของรัฐบาล ส่วนเขตอนุรักษ์สัตว์ป่านั้น บริหารและดูแลจัดการโดยองค์กรของท้องถิ่น ซึ่งอนุญาตให้คนท้องถิ่นอาศัยอยู่และนำฝูงวัว แพะ แกะเข้าไปกินหญ้าหาอาหารได้บ้าง
        สำหรับเขตอนุรักษ์โกรงโกโร (Ngorongoro อ่านออกเสียงว่า  โก-รง-โก-โร) นั้น อยู่ทางตอนเหนือของแทนซาเนีย  โกรงโกโร คือ ปล่องภูเขาไฟที่เป็นส่วนหนึ่งของเขตอนุรักษ์ ตั้งอยู่ห่างไปทางตะวันตก180 กิโลเมตรจากเขตอารูชา (Arusha) เขตอนุรักษ์โกรงโกโรมีพื้นที่ทั้งหมด 6,480 ตารางกิโลเมตร อยู่สูงจากระดับน้ำทะเล 1,020 – 3,578  เมตร

 
        องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก - UNESCO) ยกย่องให้เขตอนุรักษ์โกรงโกโรเป็นมรดกโลก (World Heritage Site) ทางธรรมชาติ เมื่อปีค.ศ. 197
        ภายในเขตอนุรักษ์โกรงโกโรประกอบด้วยภูมิประเทศที่หลากหลาย ทั้งที่ราบ ที่ราบสูง ทุ่งหญ้า  สวานา (savanna) และป่าไม้ ได้รับการจัดตั้งให้เป็นเขตอนุรักษ์เมื่อปี ค.ศ. 1959 เพื่อให้เป็นเขตสำหรับการใช้ที่ดินอย่างเป็นระบบ และอยู่ในการดูแลควบคุมอย่างใกล้ชิด โดยมีสัตว์ป่านานาชนิดอาศัยอยู่ มีระบบนิเวศน์ที่สมบูรณ์ และมีชนเผ่ามาไซ (Maasai) ได้รับอนุญาตเข้าไปทำเกษตรกรรมและเลี้ยงสัตว์ได้
        ตามหลักฐานทางมานุษยวิทยานั้น ชนเผ่ามบูลู (Mbulu) ได้เข้ามาอยู่ในบริเวณนี้ราว 2 พันปีก่อน จากนั้นมีชนเผ่าดาตูกา (Datooga) เข้ามาอยู่เมื่อราวปีค.ศ. 1700 ต่อมาทั้งสองชนกลุ่มได้ถูกชนเผ่ามาไซขับไล่ออกไปเมื่อทศวรรษที่ 1800 ทั้งนี้ ต้นฟิก (Fig trees) ต้นใหญ่ที่อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของป่าเลอไร (Lerai Forest) ถือว่าเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธ์ของทั้งชนเผ่าดาตูกาและเผ่ามาไซ  เชื่อกันว่าบางต้นได้ถูกปลูกไว้บนหลุมฝังศพของหัวหน้าเผ่าดาทาโก (Datago) ที่ตายระหว่างการสู้รบกับพวกมาไซ เมื่อราวปีค.ศ. 1840
       เมื่อภูเขาไฟโกรงโกโรระเบิดและถล่มลงมาทั้งลูกเมื่อราว 2 ล้าน ถึง 3 ล้านปีที่ผ่านมา ทำให้เหลือแต่  ปากปล่องภูเขาไฟโกรงโกโร (Ngorongoro Crater)  ตั้งอยู่บนพื้นดินที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์ยิ่ง นับเป็นปล่องภูเขาไฟที่ใหญ่ที่สุดในโลกจากการที่ภูเขาไฟโกรงโกโรระเบิด ทำให้ฝุ่นดินและขี้เถ้าภูเขาไฟทับถมกลายเป็นที่ราบเซเรนเกติ (Serengeti plains) ซึ่งต่อมาได้รับการจัดตั้งให้ป็นอุทยานแห่งชาติเซเรนเกติ (Serengeti National Park)ที่ราบเซเรนเกตีเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญทางด้านมานุษยวิทยาและโบราณคดีเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะ บริเวณโตรกธารโอลดูไว (Olduvai Gorge)  ชนพื้นเมืองเรียกว่าโอลดูไป  อยู่ไม่ห่างจากปล่องภูเขาไฟ    โกรงโกโร  โตรกธารโอลดูไวเกิดจากแม่น้ำกัดเซาะเมื่อราว 5 แสนปีมาแล้ว โตรกธารมีความยาว  48 กิโลเมตร และลึก  90 เมตร  เป็นส่วนหนึ่งของแนวหุบเขาทรุด (Great Rift Valley) แห่งแอฟริกาตะวันออก โอลดูไวอยู่ทางฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของที่ราบเซเรนเกติและอยู่ฝั่งเงาฝนของที่ราบสูงโกรงโกโร ทำให้บริเวณนี้เป็นเขตที่แห้งที่สุด

     
             คำว่า โอลดูไว (Olduvai) มาจากคำของชนเผ่ามาไซว่า Oldupaai ที่ใช้เรียกพืชป่าชนิดหนึ่งคือ sisal plant
             แม้แทนซาเนียจะเป็นประเทศใหม่ที่ได้รับเอกราชจากอังกฤษและเกิดจากการรวม 2 รัฐเข้าด้วยกันคือ Tanganyika และ Zanzibar  เมื่อปีค.ศ. 1964 แต่แทนซาเนียมีประวัติศาสตร์และอารยธรรมอันเก่าแก่ยาวนานหลายล้านปี เคยมีบรรพบุรุษของมนุษย์อาศัยอยู่มานานกว่า 3 ล้านปี ดังเช่นที่โตรกธารโอลดูไว     จากหลักฐานซากฟอสซิล (fossil) ที่ขุดพบในโตรกธารโอลดูไวทำให้พบว่ามีเผ่าพันธุ์ ที่เริ่มเป็นบรรพบุรุษของมนุษย์ (hominid species) เคยตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บริเวณนี้มาราว 3.6 ล้านปีมาแล้ว นอกจากนี้มีซากกระดูกโบราณและสัตว์ขนาดใหญ่ที่มีอายุเก่าแก่กว่า 3 ล้านปีถึง 15,000 ปี ทำให้โตรกธารโอลดูไวเป็นแหล่งที่มีวิวัฒนาการของมนุษย์ที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก นับจากพวกล่าสัตว์และพวกที่เก็บอาหารกิน มาเป็นพวกทำเกษตรกรรมเมื่อไม่กี่พันปีที่ผ่านมา
             นายหลุยส์ ลีคกี (Louis Leakey-1903-1972) นักโบราณคดีชาวอังกฤษ (เกิดในเคนยาขณะที่เคนยาเป็นอาณานิคมของอังกฤษ) ได้เริ่มค้นคว้าบริเวณโอลดูไวมาตั้งแต่ปีค.ศ. 1931 เพราะต้องการศึกษาเกี่ยวกับซากฟอสซิลและซากกระดูกของมนุษย์ยุคโบราณ เขาได้ทำการค้นคว้าอยู่ในบริเวณนี้นานถึง 40 ปี
             เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม ค.ศ. 1959 แมรี ลีคกี (Mary Leakey-1913-1996) นักโบราณคดีและนักมานุษยวิทยาชาวอังกฤษ ผู้เป็นภริยาของหลุยส์ ลีคกีได้ขุดพบซากกระโหลก  Australopithecus boisei (Zinjanthropus) ที่มีอายุราว 1.75 ล้านปี ให้ชื่อโครงกระโหลกนั้นว่า ‘Nutcracker Man’ ตามลักษณะที่กว้างใหญ่ของกราม แมรี ลีคกียังได้ขุดพบเครื่องมือยุคหิน (อายุราว 1 แสนถึง 2 ล้านปี) และซากฟอสซิลที่เป็น เชื้อสายพันธุ์หรือบรรพบุรุษของมนุษย์ (ancient hominines) อีกด้วย  
             ในปีค.ศ. 1960 โจนาธาน ลีคกี (Jonathan Leakey) บุตรชายของหลุยส์ ลีคกี ได้ค้นพบซากกระโหลกและกรามของมนุษย์สายพันธุ์ Homo Habilis ที่บริเวณโตรกธารโอลดูไวเช่นกัน ให้ช่อว่า “Handy Man” ตามลักษณะของทักษะการใช้เครื่องมือ   ที่เป็นอาวุธหิน ซึ่งหลุยส์ ลีคกีเชื่อว่าเป็นพวกที่มีสมองและทักษะในการทำอาวุธ อาจเป็นบรรพบุรุษสายตรงของมนุษย์ในปัจจุบันก็เป็นได้
             ที่บริเวณโตรกธารโอลดูไวยังมีซากฟอสซิลที่แสดงถึงสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของบรรพบุรุษมนุษย์ มีการคนพบร่องรอยของก้อนหินที่วางเรียงเป็นวงกลมราวกับเป็นอาณาเขตของกระท่อม   ที่อาศัย อายุประมาณ 1.75 ล้านปีเช่นเดียวกับซากกระโหลก “Nutcracker Man”  แสดงให้เห็นว่าได้เริ่มมีความพยายามสร้างที่อาศัยพักพิงขึ้นด้วย นอกจากนี้ยังมีเครื่องมือที่ทำจากหินและซากกระดูกของสัตว์อีก  เป็นจำนวนมาก  แสดงว่ามนุษย์แรกเริ่มนี้ได้อาศัยอยู่รวมกันเป็นกลุ่มก้อนแล้ว          
             ในปีค.ศ. 1976 แมรี ลีคกียังได้ขุดพบซากฟอสซิลที่เป็นรอยเท้าในเขต เลโตลี (Laetoli)  ที่อยู่ห่าง  ไปทางใต้ของโตรกธารโอลดูไว 45 กิโลเมตร เป็นซากรอยเท้าที่ถูกฝังอยู่ในเถ้าภูเขาไฟนับล้านปี และในปีค.ศ. 1978 ได้ค้นพบร่องรอยการเดินเท้าของ bipedal hominids จำนวน 3 คน (คาดว่าเป็นผู้ใหญ่ 2 คนและเด็ก 1 คน)  นับว่าเป็นการค้นพบอันยิ่งใหญ่ที่สุดของแมรี ลีคกี

   

               สำหรับปล่องภูเขาไฟโกรงโกโรที่ตั้งอยู่บนพื้นดินดังที่เห็นในปัจจุบันนั้น มีความกว้างใหญ่ขนาด  259 ตารางกิโลเมตร  ขอบโดยรอบของปล่องภูเขาไฟมีความสูงถึง  610 เมตร ทำให้พื้นที่ที่อยู่ภายในปากปล่องภูเขาไฟเต็มไปด้วยระบบนิเวศน์ของพืชพันธุ์และสัตว์ต่างๆ อย่างสมบูรณ์  คาดว่าก่อนที่ภูเขาไฟ   โกรงโกโรระเบิดนั้น อาจมีความสูงถึง  4,000-5,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล
               มีหลักฐานระบุว่าชาวยุโรปคนแรกที่ได้มาถึงปล่องภูเขาไฟโกรงโกโรคือ ดร. ออสการ์ เบาวมานน์ (Dr.Oscar Baumann) เมื่อปีค.ศ. 1892 จากนั้นได้มีพี่น้องชาวเยอรมันสองคนเข้าไปทำนาภายในเขตปล่องภูเขาไฟจนถึงสงครามโลกครั้งที่ 1 ต่อมาบริเวณปล่องภูเขาไฟโกรงโกโรได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติเซเรนเกติที่จัดตั้งขึ้นโดยอังกฤษเมื่อปีค.ศ. 1951 ชนเผ่ามาไซยังคงอาศัยอยู่ในบริเวณอุทยานนี้จนถึงปีค.ศ. 1959  เมื่อมีการจัดตั้งเขตอนุรักษ์โกรงโกโรแยกออกจากอุทยานเซเรนเกติ  ประกอบกับชนเผ่ามาไซได้เกิดความขัดแย้งมากขึ้นกับเจ้าหน้าที่ทางการของอังกฤษ จึงถูกขับไล่ออกจากพื้นที่อุทยานและให้ไปอาศัยอยู่ในบริเวณเขตอนุรักษ์โกรงโกโรแทน
               ชนพื้นเมืองเปรียบโกรงโกโรคล้าย “ชามอ่าง” ทั้งนี้ เพราะลักษณะของปากปล่องภูเขาไฟมีรูปร่างคล้ายดังชามอ่างใบใหญ่ที่มีขอบริมโดยรอบ มีบางตำราระบุว่า โกรงโกโร แปลว่า “ที่เย็น (Cold Place)”  ชาวเยอรมันเรียกว่า “ที่ราบแห่งฤดูหนาว (Winter Highlands)” อากาศบนขอบปล่องภูเขาไฟมีความเย็นและพื้นที่รอบขอบเต็มไปด้วยป่าเขียวตลอดปี เชื่อว่าป่าไม้เหล่านี้มีอายุประมาณ 8 แสนปีมาแล้วและอาจเป็นป่าที่ต่อเนื่องไปตลอดแอฟริกาตะวันออกจนถึงลุ่มแม่น้ำคองโก (Congo Basin)
               ส่วนพื้นที่ภายในปล่องภูเขาไฟโกรงโกโรนั้น มีอากาศแห้งและอุณภูมิอุ่นกว่าข้างบน แสงแดด แรงจ้าอยู่สม่ำเสมอ ป่าไม้และพืชพันธุ์ที่ขึ้นก็เปลี่ยนไปตามความสูงของพื้นที่ที่ไล่ลงมาจากริมขอบปล่องจนถึงพื้นด้านล่าง การไปชมสัตว์ป่า เรียกกันว่า ไปซาฟารี คำว่า ซาฟารี (safari) นั้น เป็นภาษาสวาฮิลี (Swahili)  ซึ่งเป็นภาษาพื้นเมืองของแอฟริกาตะวันออก แปลว่า การเดินทาง (journey) แต่ปัจจุบันนำมาใช้ในความหมายว่าการท่องชมสัตว์ป่าที่อยู่ตามธรรมชาติ
               เนื่องจากการถล่มของภูเขาไฟโกรงโกโรลงมาทั้งลูกจนเหลือแต่ปากปล่องตั้งอยู่บนพื้นดินนี้เกิดขึ้นเมื่อไม่กี่ล้านปีมานี่เอง แม้จะเชื่อกันว่าดับไปแล้ว แต่ก็ถือว่ายังมีความละเอียดอ่อนอยู่มาก ที่ผ่านมาได้มีนักท่องเที่ยวไปชมกันครั้งละจำนวนมาก ๆ แต่ปัจจุบันเจ้าหน้าที่ทางการได้จำกัดจำนวนลงและอนุญาตให้เข้าชมได้เพียงครึ่งวันเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อไม่ให้กระทบกระเทือนกับแผ่นดินและริมปล่องภูเขาไฟ เนื่องจากการไปชมสัตว์ป่าภายในปล่องภูเขาไฟ ต้องใช้รถค่อยๆ ขับไต่ลงจากสันริมขอบของปล่องที่อยู่สูงจากพื้นดิน  610 เมตร จึงเกรงกันว่าหากมีรถนักท่องเที่ยวไปมากในแต่ละครั้ง อาจทำให้ริมขอบของปล่องภูเขาไฟถล่มหรือถูกทำลายลงได้
               การไปแทนซาเนียต้องมีวีซ่าเข้าประเทศ  ซึ่งขอได้จากสถานเอกอัครราชทูตแทนซาเนียในเคนยา  เราออกเดินทางจากกรุงไนโรบี ไปชายแดนใต้สุดของเคนยา ใช้เวลาประมาณ 5 ถึง  6 ชั่วโมง เส้นทางยัง    ไม่ราบเรียบในบางพื้นที่เท่าไร ทำให้การเดินทางเป็นไปได้ช้าและต้องระมัดระวังรถที่สวนกันมา เมื่อถึงชายแดน ต้องผ่านกระบวนการตรวจคนเข้าเมืองของแทนซาเนีย ใช้เวลาไม่นานนักและได้รับการอำนวยความสะดวกจากเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นด้วยดี จากนั้นเรานั่งรถต่อไปอีกประมาณ 3 ชั่วโมงจึงเข้าเขตอนุรักษ์โกรงโกโร
               กล่าวได้ว่าใช้เวลากันทั้งวันนับจากออกเดินทางจากกรุงไนโรบี ประเทศเคนยาเข้าไปในประเทศแทนซาเนียจนถึงเขตอนุรักษ์โกรงโกโร เมื่อถึงเขตอนุรักษ์ตอนเย็น ก็เข้าพักที่โรงแรมโซปา (Sopa Lodge)  ซึ่งเป็นที่พักเพียงไม่กี่แห่งที่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งขึ้นได้ภายในเขตอนุรักษ์ เพราะทางการแทนซาเนียต้องการจำกัดจำนวนโรงแรมที่พักและนักท่องเที่ยวไม่ให้เข้าไปอยู่กันมากเกินไปในคราวหนึ่งๆ มิฉะนั้นอาจส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิประเทศ ระบบนิเวศน์ และยังเป็นการรบกวนสัตว์ป่าด้วย โรงแรมที่พักเหล่านั้นยังต้องมีรูปแบบของสถาปัตยกรรมและโครงสร้าง ที่กลมกลืนกับสภาพแวดล้อมของธรรมชาติและภูมิประเทศให้มากที่สุด นั่นคือต้องไม่มีอะไรโดดเด่นจนทำให้สัตว์ป่าแตกตื่นหรือเกรงกลัวได้
               โรงแรมโซปาตั้งอยู่ริมปล่องภูเขาไฟ ทำให้มองเห็นทิวทัศน์ภายในปล่องภูเขาไฟที่กว้างใหญ่ราวสุดท้องฟ้าอีกด้านได้อย่างชัดเจน  โซปาเป็นโรงแรมขนาดย่อมที่ดีมากแห่งหนึ่ง ห้องต่างๆ มีลักษณะ     คล้ายกระท่อมเป็นหลังๆ สะอาดและสะดวกสบายมาก ห้องที่เราพักอยู่ทางทิศตะวันออกด้วย จึงได้เห็น   พระอาทิตย์ค่อยๆ ขึ้นตอนเช้าตรู่ ท้องฟ้าสวยงามน่าประทับใจยิ่ง  

      
               ในเช้าวันรุ่งขึ้นจากที่เราเดินทางไปถึงเขตอนุรักษ์โกรงโกโร เราออกจากที่พักแต่เช้าตรู่เพื่อลงไปยังปล่องภูเขาไฟโกรงโกโร รถของเราไต่ขอบปล่องภูเขาไฟไปเรื่อยๆ มีหมอกหนาทึบเป็นบางช่วง จากนั้นรถเริ่มไต่ลงตามขอบเพื่อลงไปพื้นด้านล่าง ความสูงจากขอบปล่องถึงพื้นข้างล่างมีระยะทาง 610 เมตร ค่อนข้างสูงชัน จึงต้องใช้ความระมัดระวังและคนขับต้องเชี่ยวชาญภูมิประเทศอย่างดี ครั้นเมื่อถึงพื้นล่างของปล่องภูเขาไฟ ทำให้เป็นว่าเป็นพื้นที่ราบกว้างใหญ่ ซึ่งหากเราไม่ได้มองเห็นริมขอบของภูเขาไฟที่อยู่โดยรอบและที่อยู่ไกลไปสุดฟ้านั้น ก็จะไม่ได้คิดเลยว่ากำลังอยู่ในปากปล่องภูเขาไฟนั่นเอง เป็นภูมิประเทศและธรรมชาติที่น่ามหัศจรรย์ยิ่ง

               สัตว์ป่าที่อยู่ภายในปล่องภูเขาไฟมีจำนวนมากมายมหาศาล  ซึ่งถ้านับรวมที่อยู่ในเขตอนุรักษ์     โกรงโกโรทั้งหมดแล้ว มีสัตว์ป่านานาชนิดมากกว่า 3 หมื่นตัว บางส่วนอาศัยอยู่ในบริเวณที่เป็นปล่อง    ภูเขาไฟ บางส่วนอยู่ด้านนอกตามเชิงขอบและที่ราบใกล้เคียง สัตว์ป่าที่เห็นได้มากภายในพื้นที่ปล่องภูเขาไฟคือม้าลาย (Zebra) และวิลเดอบีสต์ (Wildebeest) ที่มีรูปร่างคล้ายวัวแต่มีเขาแหลม นอกนั้นเป็นสัตว์ประเภทต่างๆ ดังเช่น สิงโต หมาป่าฮายีนา (Hayena) หรือหมาใน เสือดาว ควายป่า แรด (โดยเฉพาะแรดดำ - Black Rhino) ซึ่งเป็นสัตว์สงวนที่หาได้ยากมาก เป็นต้น  นอกจากนี้ มีหนองน้ำ Ngoitokitok  มีฮิปโปโปเตมัสอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากเช่นกัน สัตว์ที่หาไม่ได้ภายในปล่องภูเขาไฟคือ ยีราฟ กวางอิมพาลา (Impala), Topi, Oryx  เพราะสัตว์ประเภทนี้อาศัยหากินอยู่ตามที่ราบเซเรนเกติ สำหรับช้างนั้น มักอาศัยและหากินอยู่ตามริมขอบปล่อง ซึ่งน้อยมากที่ช้างจะเดินขึ้นและลงเข้าไปในปล่องภูเขาไฟ ยกเว้นช้างตัวผู้ที่โตเต็มที่แล้ว ที่มักอยู่ภายในพื้นที่ปล่องภูเขาไฟที่มีหญ้าอุดมสมบูรณ์
               สำหรับสิงโตที่อาศัยอยู่ภายในพื้นที่ปล่องภูเขาไฟนั้น มีเป็นจำนวนมากเพราะสามารถล่าสัตว์ต่างๆ เช่น ม้าลาย และตัววิลเดอบีสต์ได้ง่าย  อย่างไรก็ตาม การอยู่แต่ภายในพื้นที่จำกัดที่เป็นปล่องภูเขาไฟ  ทำให้สิงโตมีปัญหาเรื่องพันธุกรรม เพราะมักผสมพันธุ์กันเองในกลุ่มเล็กๆ ไม่ได้มีเชื้อพันธุ์สายอื่นจากภายนอกเข้ามาเท่าไร ประกอบกับสิงโตเหล่านี้ก็ไม่ได้ปีนข้ามปล่องภูเขาไฟออกไปยังพื้นที่ภายนอกด้วย หากมีสิงโตจากภายนอกหลงเข้ามา มักจะถูกขับไล่หรือถูกล่าโดยสิงโตด้วยกัน
               ภายในปล่องภูเขาไฟยังมีทะเลสาบน้ำเค็ม ชื่อ มากาดี (Lake Magadi)  ลึก 10 ฟุต เห็นเกลือสีขาว (soda ash) ที่แห้งขอดจากทะเลสาบน้ำเค็มดูแผ่ขาวกว้างไกล ทะเลสาบมากาดีเป็นที่อาศัยของนกแฟลมิงโก สีชมพู ที่หากินสาหร่ายและสัตว์เล็กๆ เช่นกุ้ง อยู่ตามริมขอบทะเลสาบเกลือนี้ด้วย นอกจากนี้ยังมีนกน้ำชนิดอื่นๆอาศัยอยู่อีกมากเช่นกัน
              ในการชมสัตว์ป่าภายในปล่องภูเขาไฟโกรงโกโรนั้น ใช้เวลาครึ่งวันอย่างเต็มที่ เราได้เห็นสัตว์ป่านานาชนิดจำนวนมากมายอย่างใกล้ชิด  ได้เห็นชีวิตของสัตว์ป่าที่อยู่ในธรรมชาติของพวกเขาอย่างแท้จริง  ทั้งที่เป็น “ผู้ล่า” และ “ผู้ถูกไล่ล่า”   อันเป็นวัฏวงเวียนของชีวิต เป็นหลักธรรมชาติที่ทำให้เห็นว่าสัตว์ตัวใดที่อ่อนแอกว่าย่อมเป็นเหยื่อของสัตว์ที่เข้มแข็งกว่าได้ง่าย แต่ที่เห็นได้ชัดก็คือ สัตว์ทุกตัวรักชีวิต ครอบครัว และความเป็นอิสระ คงเป็นเช่นเดียวกับมนุษย์นั่นเอง แต่มนุษย์บางจำพวกกลับทำร้ายและเบียดเบียนสัตว์อย่างเห็นแก่ตัวที่สุด น่าอนาถใจจริงๆ     

    

          หลังจากท่องเที่ยวชมสัตว์ป่าในปล่องภูเขาภูเขาไฟโกรงโกโรและบริเวณใกล้เคียงเป็นเวลา 2 วันแล้ว เราก็เดินทางกลับขึ้นเหนือเพื่อต่อเข้าไปเคนยา  โดยได้แวะพักค้างคืนที่อุทยานแห่งชาติแห่งทะเลสาบมันยารา (Lake Manyara National Park) อีก 1 คืน เพื่อชมสัตว์ป่านานาชนิดและธรรมชาติที่หลากหลายงดงามอีกแห่งหนึ่งของแทนซาเนีย

   

จำนวนผู้อ่านบทความ  Must See Places In Paris