สหประชาชาติในประเทศเคนยาเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช


 

  บทความโดย อัครสิทธิ์ อมาตยกุล

หลังจากที่ผมไปรับตำแหน่งเอกอัครราชทูต ณ กรุงไนโรบี ประเทศเคนยา เมื่อเดือนมกราคม 2547 ผมได้เข้าเยี่ยมคารวะดร. แอนนา  ทีไบจูกา  (Dr. Anna  Tibaijuka)  ผู้อำนวยการบริหาร (Executive  Director) ของโครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ  (UN-HABITAT) เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2547  เพื่อยื่นสาสน์แต่งตั้งจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้ผมดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรประจำ   UN-HABITAT อีกตำแหน่งหนึ่ง   ในการสนทนาครั้งนั้น ดร. ทีไบจูกาได้แจ้งว่า UN-HABITAT ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงไนโรบี จะทูลเกล้า ฯ ถวายรางวัลเกียรติยศของโครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ (UN-HABITAT  Scroll of Honour Award (Special Citation) แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในโอกาสวัน World Habitat Day 2003 โดยในปี 2546  UN-HABITAT ได้พิจารณาเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2546 ขอทูลเกล้า ฯ ถวายรางวัลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในฐานะที่ทรงมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์อย่างยั่งยืน และได้ทรงช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของมนุษย์ในชุมชนทั้งในเมืองและชนบท ทั้งนี้  ดร. ทีไบจูกา แสดงความประสงค์ที่จะขอเป็นผู้ทูลเกล้า ฯ ถวายด้วยตนเอง และขอความร่วมมือให้ผมช่วยประสานงานให้  นอกจากนี้ ยังขอให้ผมร่วมเดินทางไปเพื่อร่วมเป็นเกียรติในงานสำคัญนี้ด้วย 

  
        ต่อมาพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ ดร.ทีไบจูกา และคณะ เข้าเฝ้า ฯ เพื่อทูลเกล้า ฯ  ถวายรางวัลในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2547 เวลา 17.30 น. ผมได้เข้าร่วมคณะของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม  (นายพงษ์เทพ  เทพกาญจนา) นำคณะของ ดร.ทีไบจูกา เข้าเฝ้า ฯ เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลเกียรติยศของโครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ ในคำกราบบังคมทูลของ ดร.ทีไบจูกา ในโอกาสการทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลนั้น  ดร.ทีไบจูกาได้กล่าวว่า  องค์การสหประชาชาติได้ประกาศทูลเกล้า ฯ ถวายรางวัล  UN-HABITAT Scroll of  Honour Award (Special Citation) แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในโอกาสวันตั้งถิ่นฐานโลก เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2546 ซึ่งเป็นรางวัลเกียรติยศสูงสุดที่องค์การสหประชาชาติมอบเป็นเกียรติแก่บุคคลที่มีผลงานดีเด่นด้านการตั้ง ถิ่นฐานมนุษย์อย่างยั่งยืน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ในการจัดการปรับปรุงทรัพยากรน้ำในประเทศไทยได้อย่างโดดเด่น  อาทิ  การควบคุมมลพิษในลำคลองในกรุงเทพ ฯ  การบำบัดน้ำเสียในบึงมักกะสัน การพัฒนาลุ่มน้ำป่าสัก และการป้องกันอุทกภัยในภาคใต้ สอดคล้องกับการที่ UN-HABITAT  ได้กำหนดให้ปี 2546 เป็นปีแห่งน้ำและสุขอนามัยสำหรับเมือง (Water and Sanitation for Cities) ดร. ทีไบจูกา กราบบังคมทูลด้วยว่า พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เรื่องการพัฒนาจัดการทรัพยากรน้ำในประเทศไทยนั้นสามารถเป็นแบบอย่างให้กับการพัฒนาในภารกิจของ UN-HABITAT ที่ดำเนินการอยู่ในหลายประเทศได้ โดยเฉพาะในเคนยาและแอฟริกาที่มีลักษณะปัญหาคล้ายคลึงกัน ซึ่งรวมถึงเรื่องการพัฒนาแหล่งน้ำสะอาดเพื่อการบริโภคและการเพาะปลูก ทั้งนี้ จะมีการศึกษารูปแบบโครงการพระราชดำริเพื่อนำไปปรับใช้กับโครงการพัฒนาทะเลสาบวิกตอเรียของแอฟริกาด้วย

       จากการที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงได้รับการทูลเกล้า ฯ ถวายรางวัลเกียรติยศของโครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งประชาชาตินั้น ทำให้ผมเห็นว่า สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไนโรบีในฐานะที่เป็นคณะทูตถาวรประจำองค์การ UN-HABITAT น่าที่จะจัดงานเฉลิมพระเกียรติขึ้นที่กรุงไนโรบี  เพื่อให้คณะทูตานุทูต  เจ้าหน้าที่องค์การสหประชาชาติ  และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลเคนยาได้ร่วมรับทราบถึงพระเกียรติคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไนโรบี จึงได้ร่วมกับ UN-HABITAT จัดงานเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช  ขึ้นเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2547 ณ สำนักงานสหประชาชาติ กรุงไนโรบี  ซึ่งเป็นวันที่ใกล้กับวันครบรอบการเถลิงถวัลย์ขึ้นครองราชย์สมบัติของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช     

               งานเทิดพระเกียรติประกอบด้วยการจัดนิทรรศการประมวลภาพพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ด้านการพัฒนาชีวิต  โครงการในพระราชดำริ และโครงการตามแนวพระราชดำริ นอกจากนี้มีการบรรยายพิเศษ โดยผมได้เรียนเชิญ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ให้ไปร่วมบรรยายพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช        

                งานเริ่มเวลา 18.00 น. โดยผมในฐานะเอกอัครราชทูต พร้อมด้วย ดร.ทีไบจูกา ผู้อำนวยการบริการ UN-HABITAT นาย Najib M. Balala รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกีฬา วัฒนธรรม สังคมและการพัฒนาสตรีเคนยา และดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนาได้ทำพิธีตัดริบบิ้นเปิดงานนิทรรศการ ซึ่งจัดแสดงอยู่บริเวณพื้นที่ของสำนักงานใหญ่สหประชาชาติ โดยมีผู้เข้าร่วมงานประกอบด้วย คณะทูตานุทูต เจ้าหน้าที่ระดับสูงขององค์การสหประชาชาติและองค์การระหว่างประเทศ  เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลเคนยา และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและภาคเอกชนของเคนยา รวมประมาณ 450 คน

                สำหรับการบรรยายพิเศษนั้น มีขึ้นให้ห้องประชุมใหญ่ขององค์การสหประชาชาติ โดยผู้เข้าร่วมงาน ได้เข้าร่วมฟังกันอย่างพร้อมเพรียง ในการเปิดการบรรยาย ผมได้กล่าวต้อนรับผู้ร่วมงาน และกล่าวถึงพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รวมทั้งโครงการในพระราชดำริ พร้อมทั้งกล่าวขอบคุณ UN-HABITAT ที่ได้ทูลเกล้า ฯ ถวาย รางวัล HABITAT Scroll of Honour Award (Specia Citation) แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดของสหประชาชาติด้านการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ นับเป็นความภาคภูมิใจของประเทศไทยและชาวไทยทั้งมวล  นอกจากนี้ ผมได้กล่าวถึงเจตนารมณ์ของรัฐบาลไทยที่ต้องการเสริมสร้างความสัมพันธ์กับเคนยาและแอฟริกาให้มากยิ่งขึ้น  รวมทั้งการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ด้านต่าง ๆ การเป็นหุ้นส่วนกับแอฟริกาโดยการสร้างความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจ  การศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งเขตการค้าเสรีกับอนุภูมิภาคต่าง ๆ ของแอฟริกา ความร่วมมือทางวิชาการ และการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ

                จากนั้นดร. ทีไบจูกา ผู้อำนวยการบริหารของ UN-HABITAT ได้กล่าวสดุดีพระเกียรติคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และกล่าวถึงการที่สหประชาชาติได้ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลดังกล่าวว่า เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติของพระองค์ที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวไทยทั้งในเมืองและชนบท รวมทั้งการพัฒนาทรัพยากรน้ำ การพัฒนาสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ทั่วประเทศ การลดปัญหาน้ำเสียตามแม่น้ำลำคลอง นอกจากนี้ยังเพื่อเป็นการเผยแพร่พระเกียรติคุณของพระองค์ให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายทั่วโลก ดร. ทีไบจูกายังกล่าวว่า UN-HABITAT ต้องการร่วมมือและเรียนรู้ประสบการณ์ในการพัฒนาประเทศของไทยโดยเฉพาะโครงการในพระราชดำริ เพื่อนำมาปรับใช้กับโครงการของ UN-HABITAT ทั้งในเคนยาและแอฟริกา นอกจากนี้ ยังมีความสนใจที่จะร่วมมือกับไทยในการดำเนินโครงการของ UN-HABITAT เพื่อก่อสร้างที่อยู่อาศัยให้แก่ประชาชน รวมทั้งนำโครงการในพระราชดำริมาปรับใช้การพัฒนาแหล่งน้ำในแอฟริกา เพื่อจัดหาน้ำสะอาดให้กับประชาชนทั้งในเมืองและขนบทสำหรับการบริโภคและการเพาะปลูก ซึ่งขณะนี้แอฟริกากำลังดำเนินโครงการพัฒนาทะเลสาบวิกตอเรียอันเป็นแหล่งน้ำที่สำคัญของแอฟริกา   ดังนั้น การศึกษารูปแบบและแนวทางจากโครงการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงก็สามารถนำมาปรับใช้กับโครงการพัฒนาทะเลสาบวิกตอเรียได้  UN-HABITAT ยังมีโครงการที่จะพัฒนาและเสริมสร้างความสัมพันธ์กับประเทศในภูมิภาคเอเชียให้มากขึ้น จึงหวังว่าไทยคงจะเป็นหุ้นส่วนในการพัฒนากับ UN-HABITAT และขอให้นโยบายของไทยต่อแอฟริกาประสบความสำเร็จ

                นาย ชัฟคัต คาคาเฮล (Shafqat Kakahel)  รองผู้อำนวยการบริหารโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme-UNEP) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ที่กรุงไนโรบีเช่นกัน ได้กล่าวชื่นชมไทยที่มีนโยบายให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม  พร้อมกับระบุว่าไทยมีบทบาทที่แข็งขันในด้านสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่ปี 2532 นายคาคาเฮลยังได้กล่าวชื่นชมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของไทยที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี และกล่าวว่า UNEP ให้ความสำคัญมากขึ้นกับประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก อีกทั้ง ยังต้องการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่าง UNEP กับไทยและอาเซียนให้มากยิ่งขี้น

                ต่อมา ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ได้บรรยายพิเศษเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจและโครงการในพระราชดำริที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาทรัพยากรน้ำ  ในหัวข้อ His Majesty King Bhumibol Adulyadej of Thailand and Sustainable Water Resource Management มีสาระสำคัญสรุปว่า  น้ำมีความสำคัญอย่างมากต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์และเปรียบว่าน้ำคือชีวิต  จำเป็นต้องมีการใช้น้ำอย่างมีคุณค่าและให้มีการพัฒนาทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน   ดร. สุเมธฯได้กล่าวถึงการพัฒนาทรัพยากรน้ำตามแนวพระราชดำริ ซึ่งเริ่มจากการกักเก็บน้ำบนภูเขาและที่เชิงเขา  รวมทั้งการสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ราบ ทำให้สามารถใช้ประโยชน์จากน้ำได้นับตั้งแต่การเพาะปลูกพืชผลบนภูเขาและที่สูง การเพาะปลูกพืชเพื่อทดแทนยาเสพติด  การเพาะปลูกพืชทางการเกษตร และการใช้ประโยชน์จากน้ำเพื่อการบริโภคและอุปโภคทั้งในเมืองและชนบท  นากจากนี้ ยังมีโครงการบำบัดน้ำเสียอย่างเป็นระบบโดยวิธีธรรมชาติ  โดยเริ่มจากการสร้างบ่อพักน้ำเสียเพื่อให้ตกตะกอน ก่อนที่จะปล่อยลงสู่พื้นที่ป่าโกงกางและสู่ทะเลต่อไป นับเป็นวิธีการที่เหมาะสมอย่างมากที่จะนำไปใช้กับประเทศกำลังพัฒนา เพราะเป็นวิธีทางธรรมชาติและมีค่าใช้จ่ายถูกมาก ในปัจจุบันมีโครงการพระราชดำริมากกว่า 3,000 โครงการ  ดร. สุเมธฯ ยังได้บรรยายถึงทฤษฏีใหม่ (New Theory) ที่มุ่งให้ประชาชนสามารถพึ่งตนเองได้โดยการจัดให้มีที่ดินทำกิน มีแหล่งน้ำเพื่อใช้ในการบริโภคและการเพาะปลูก  มีพื้นที่ปลูกพืชผักสวนครัว ปลูกข้าวและมีพื้นที่อยู่อาศัย  มีการรวมตัวในรูปของสหกรณ์  จัดตั้งกองทุนเพื่อการสนับสนุนกิจกรรมของชุมชน และจัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริรวม 6 แห่ง ได้แก่ เชียงใหม่ สกลนคร ฉะเชิงเทรา จันทบุรี เพชรบุรี และนราธิวาส  โดยได้มีการทำงานและประสานงานระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เป็นศูนย์บริการแบบครบวงจรสำหรับเกษตรกร ประชาชนทั่วไป และชาวต่างประเทศ

                การบรรยายเกี่ยวกับโครงการพระราชดำริ โดย ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ได้รับความสนใจอย่างมากทั้งจากหน่วยงานต่าง ๆ ของเคนยา และคณะทูตานุทูต ได้มีการติดต่อขอรับแผ่น CD ที่ใช้ประกอบการบรรยายเพื่อนำไปพิจารณาศึกษาโครงการพัฒนาทรัพยากรน้ำของเคนยา เนื่องจากเป็นวิธีธรรมชาติที่ต้นทุนไม่สูงมากนัก   อีกทั้งยังสามารถที่จะนำไปปรับใช้ได้ทันที โดยไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากประเทศตะวันตก ส่วนนางมาร์ธา คารัว รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรน้ำของเคนยา ได้แสดงความสนใจอย่างมากที่จะร่วมมือกับประเทศไทยในโครงการต่าง ๆ เกี่ยวกับการพัฒนาทรัพยากรน้ำ  รวมทั้งการนำเอาแนวทางการพัฒนาทรัพยากรน้ำตามโครงการฝนพระราชดำริมาใช้ในเคนยา  นอกจากนี้ UN-HABITAT แสดงความสนใจที่จะร่วมมือกับไทยในรูปแบบของการเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาในโครงการต่าง ๆ อาทิ  โครงการจัดหาที่อยู่อาศัยให้กับประชาชนในประเทศต่าง ๆ โดยไทยอาจจัดหาวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างเพื่อสนับสนุนโครงการของ UN-HABITAT ซึ่งต่อมา UN-HABITAT ได้ติดต่อขอรับรายชื่อบริษัทของไทยที่จะสามารถส่งออกสินค้าจำพวกวัสดุก่อสร้างให้ได้ นอกจากนี้  UN-HABITAT ยังสนใจโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเพื่อพัฒนาทรัพยากรน้ำและจะนำเอามาปรับใช้กับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคแอฟริกาด้วย UN-HABITAT  ยังมีดำริที่จะจัดทำ Documentation โครงการในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาตั้งถิ่นฐานมนุษย์ เพื่อบรรจุลงใน website ของ UN-HABITAT นอกจากนี้ NGO ของเยอรมนี ซึ่งดำเนินงานอย่างใกล้ชิดกับ UN-HABITAT ก็ได้แสดงความสนใจที่จะร่วมมือกับมูลนิธิชัยพัฒนาและประเทศไทยในฐานะหุ้นส่วนในการพัฒนาแอฟริกา

                กล่าวได้ว่าการจัดนิทรรศการและการบรรยายเรื่องพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้รับความสำเร็จอย่างมากและเป็นที่สนใจของผู้เข้าร่วมงานเป็นอย่างยิ่ง (นิทรรศการได้จัดต่อเนื่องอีกหนึ่งสัปดาห์ ณ บริเวณสำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ กรุงไนโรบี)

ในวันงานดังกล่าวนี้ เมื่อเสร็จสิ้นการบรรยายโดยดร. สุเมธ ตันติเวชกุล แล้ว ได้มีการจัดงานเลี้ยงรับรองโดยสถานเอกอัครราชทูตร่วมกับชุมชนชาวไทย จัดเตรียมอาหารไทยสำหรับผู้เข้าร่วมงาน และยังมีการแสดงดนตรีไทยประกอบในงานด้วย นอกจากนี้ ยังได้มีการบรรเลงเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  โดยวงดนตรีแจ๊สสมัครเล่นของชาวเคนยาและชาวอเมริกัน ซึ่งมีเครื่องดนตรีพื้นเมืองของเคนยาเล่นประกอบด้วย ผมได้ติดต่อขออนุญาตผ่านกระทรวงฯ เพื่อนำเพลงพระราชนิพนธ์มาให้วงดนตรีแจ๊สสมัครเล่นนี้บรรเลงให้ผู้เข้าร่วมงานได้ฟัง ซึ่งผู้เข้าร่วมงานทุกคนให้ความสนใจและประทับใจ ในพระปรีชาสามารถทางด้านการดนตรีของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเป็นอย่างมากเช่นกัน 

               อนึ่ง ขอเรียนเพิ่มเติมเกี่ยวกับภารกิจของผมในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต ณ กรุงไนโรบีด้วยว่า ในเดือนตุลาคม 2547 ผมได้นำประธานาธิบดี Kibaki ของเคนยา พร้อมด้วยภริยาของประธานาธิบดี มาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล โดยมีรัฐมนตรีต่างประเทศและรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ ของเคนยาร่วมเดินทางมาด้วย นับเป็นการเยือนไทยครั้งแรกของประธานาธิบดี Kibaki และภริยาด้วย ในระหว่างการเยือนครั้งนี้ ประธานาธิบดีและภริยา พร้อมด้วยคณะ ได้เดินทางไปศึกษาดูงานโครงการพัฒนาต่างๆ ที่พระราชวังสวนจิตรลดา ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างยิ่ง โดยประธานาธิบดีและภริยา ยังกล่าวแสดงความชื่นชมในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในฐานะที่ทรงเป็นนักทดลองและนักพัฒนา และทรงทำโครงการต่างๆ เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนชาวไทยของพระองค์โดยแท้จริง

จำนวนผู้อ่านบทความ Must See Places In Paris