วิสาขบูชาที่บุโรพุทโธ


 

 บทความและภาพถ่ายโดย สุภาศิริ  อมาตยกุล

       วันวิสาขบูชา หรือ วิศาขบูชา เป็นวันสำคัญยิ่งในพระพุทธศาสนา ย่อมาจาก “วิสาขปูรณมีบูชา” แปลว่า “การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ” ตรงกับวันเพ็ญ (ขึ้น 15 ค่ำ) เดือน 6 ตามปฏิทินจันทรคติ ของไทย (เดือนพฤษภาคม หรือมิถุนายน ของทุกปี)                          

       วันวิสาขบูชาเป็นวันคล้ายวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของสมเด็จพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือนวิสาขะ ประชาชนชาวพุทธทั่วโลกต่างร่วมทำบุญเฉลิมฉลอง ส่วนองค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญสากลของโลก โดยมีมติเป็นเอกฉันท์ในที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม ค.ศ. 1999 (พ.ศ. 2542)  จากนั้นมา หน่วยงานต่างๆ ทั่วโลกขององค์การสหประชาชาติได้จัดงานรำลึกวันวิสาขบูชาเป็นประจำทุกปี

       ปีค.ศ. 2008 (พ.ศ. 2551) นี้ วันวิสาขบูชาในประเทศไทยตรงกับวันจันทร์ที่ 19 พฤษภาคม ส่วนประเทศอินโดนีเซียตรงกับวันอังคารที่ 20 พฤษภาคม  แม้อินโดนีเซียจะมีประชากรมุสลิมมากที่สุดในโลก แต่พุทธศาสนาเคยรุ่งเรืองในดินแดนแถบนี้มาก่อน  รัฐบาลอินโดนีเซียส่งเสริมให้ทุกศาสนา    ทั้งมุสลิม คริสต์ พุทธ และฮินดู อยู่ร่วมกันอย่างสันติ  อินโดนีเซียมีประชากร 240 ล้านคน มีผู้นับถือศาสนาพุทธประมาณ 6 ล้านคน

       สำหรับปีนี้ (พ.ศ. 2551) งานวิสาขบูชามีขึ้นที่กรุงจาการ์ตาเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม ส่วนที่เจดีย์           บุโรพุทโธ มีเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม  เรียกว่า The 2008 Trail of Civilization Performing Arts : The Journey of Buddha”  ภายใต้กรอบความร่วมมือ Cultural Heritage Tourism อันเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือ 6 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว พม่า ไทย และเวียดนาม ภายใต้ปฏิญญา Borobudur  งานนี้มีนาย S.B.Yudoyono ประธานาธิบดีอินโดนีเซียเป็นประธาน มีคณะทูตานุทูตตลอดจนผู้แทนองค์การระหว่างประเทศ องค์การพุทธศาสนาจากประเทศต่างๆ และประชาชนเข้าร่วมงานกว่าหมื่นคน ในส่วนของไทยนั้น เอกอัครราชทูต ณ กรุงจาการ์ตา (นายอัครสิทธิ์ อมาตยกุล) ได้นำคณะจากสถานเอกอัครราชทูตและนาฏศิลป์เข้าร่วมงาน ทั้งนี้ นอกจากพิธีทางศาสนาแล้ว ยังมีการแสดงร่วมกันเกี่ยวกับประวัติพระพุทธศาสนาโดยคณะนาฏศิลป์จากประเทศภายใต้ความร่วมมือดังกล่าว          

        ดิฉันเองนั้นได้เคยไปเยือนเมืองย็อกยาการ์ตาครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 โดยเดินทางไปพร้อมกับเอกอัครราชทูต ณ กรุงจาการ์ตา เราได้ไปเยี่ยมชมบุโรพุทโธในเช้าตรู่ของวันรุ่งขึ้น ออกจากโรงแรมที่พักตั้งแต่ตี 4  เดินทางโดยรถยนต์ ใช้เวลา 40 นาที เมื่อถึงทางเข้าเจดีย์ จึงเดินขึ้นบันไดจากฐานล่างสุด ถึงบนสุดอันเป็นที่ประดิษฐานขององค์สถูปใหญ่ เพื่อรอชมพระอาทิตย์ขึ้น เมื่อฟ้าเริ่มเปิด เห็นพระอาทิตย์ค่อยๆ ขึ้นระหว่างภูเขาไฟ 2 ลูกทางทิศตะวันออก ท้องฟ้าสวยงดงามยิ่งนัก เป็นความประทับใจอย่างที่สุดที่ได้มาอยู่ ณ บุโรพุทโธในช่วงเวลารุ่งอรุณเช่นนี้ หลังจากที่พระอาทิตย์ขึ้นพ้น ขอบฟ้าเต็มที่แล้ว เราเดินกลับลงไปที่ฐานชั้นล่างสุดใหม่ คราวนี้เริ่มเดินขึ้นมาทีละชั้น เป็นการเดินเวียนทักษิณาวัตร เกิดความสงบแห่งจิตและประจักษ์ชัดถึงความหมายสำคัญของบุโรพุทโธ อีกทั้งได้ชื่นชมความวิจิตรอลังการในงานสถาปัตยกรรมและประติมากรรมของโบราณสถานแห่งนี้ 
 

  
เจดีย์บุโรพุทโธ (Candi Borobudur) เป็นพุทธสถานที่ใหญ่ที่สุดในโลก คำว่าจันดี (Candi) หมายถึง เทวสถานของฮินดู ชาวอินโดนีเซียเรียกสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาว่า จันดี ไม่ว่าเป็นพุทธหรือฮินดู แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลจากอินเดียสู่ชวาและการเผยแผ่ลัทธิองค์เทวะให้ชาวชวา สำหรับบุโรพุทโธนั้น ถือเป็นอนุสรณ์สถานแห่งชาติ (National Monument) ของอินโดนีเซียด้วย  บุโรพุทโธตั้งอยู่ภาคกลางของเกาะชวา (จังหวัดชวากลาง) บนที่ราบเกฑุ (Kedu Plain) มีแนวเขาเมอโนเรห์ (Menoreh Hills) พาดผ่านทางใต้และตะวันตก ใกล้กับเนินเขาทิดาร์ (Tidar Hills) เป็นบริเวณที่แม่น้ำสองสายมาบรรจบกันคือ แม่น้ำเอโล (Elo River) และแม่น้ำโปรโก (Progo River)  เปรียบกันว่าคือสัญลักษณ์ของแม่น้ำคงคาและแม่น้ำยมนาที่ไหลลงสู่หุบเขาสินธุในประเทศอินเดีย นอกจากนี้บุโรพุทโธยังอยู่ใกล้กับภูเขาไฟใหญ่  4 ลูก คือ ทิศตะวันออกมีภูเขาเมอราปี (Merapi) และภูเขาเมอร์บาบู (Merbabu) ส่วนทิศเหนือ มีภูเขาซุมบิง (Sumbing) และภูเขาซินโดโร (Sindoro)  บุโรพุทโธอยู่ห่างจากเมืองย็อกยาการ์ตา (Yogyakarta)  ไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ  40 กิโลเมตร


คำว่า “บุโรพุทโธ” เป็นคำอ่านที่คนไทยรู้จักกันโดยทั่วไป เพราะเป็นเจดีย์ในพระพุทธศาสนา ในบทความนี้จึงขอเรียกว่า บุโรพุทโธ ทั้งนี้ เป็นคำที่มาจาก “โบโรบูดูร์ (Borobudur)”  ซึ่งแยกได้เป็น Boro และ Budur โดย Boro  มาจากภาษาสันสกฤตคือ Byara  แปลว่า วัด (Vihara)  ส่วน Budur เป็นภาษาพื้นเมืองบาหลี แปลว่า ที่สูง หรือ เนินเขา ดังนั้น Borobudur จึงหมายถึงวัดที่สร้างอยู่บนเนินเขา เพราะบริเวณที่บุโรพุทโธตั้งอยู่เป็นเนินเขาขนาดยาว เดิมมียอดเขาอยู่ด้วย แต่ได้มีการถมพื้นที่ให้เสมอกัน    กลายเป็นที่ราบสูงขึ้นมา รวมทั้งนำดินมาอัดเพิ่มเติมลงใต้พื้นเพื่อเพิ่มความแน่นให้เพียงพอกับการ รองรับน้ำหนักสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่เช่นนี้

พุทธศาสนาแผ่ขยายเข้ามาในอินโดนีเซียตามเส้นทางการค้าทางเรือที่เชื่อมจีน อินเดีย เกาะชวา  และเกาะสุมาตรา เป็นพุทธศาสนาแบบมหายาน แม้รุ่งเรืองอยู่เพียงระยะสั้น แต่มีอิทธิพลกว้างขวางและก่อให้เกิดสถานที่สำคัญหลายแห่ง หลักฐานแรกๆ ของพุทธศาสนาในอินโดนีเซีย ได้แก่ พระพุทธรูป (ศตวรรษที่ 3-5) พบที่เมืองสิเกินเด็ง (Sikendeng) บนเกาะสุลาเวสี นอกจากนี้มีจารึกบนแผ่นทองคำ       11 แผ่น (คัดลอกรูปแบบการเขียนจากจารึกเก่าที่มีอยู่ระหว่างปีค.ศ. 650- 800)  เป็นภาษาสันสกฤต     อย่างง่าย เพื่อให้คนทั่วไปอ่านเข้าใจได้ ในจำนวนนี้มี 8 แผ่นที่จารึกทั้งสองด้านเป็นคำสอนเกี่ยวกับเหตุของการเกิดทุกข์ที่อาศัยปัจจัยต่อเนื่องกัน ส่วนอีก 2 แผ่นเป็นหลักคำสอนอย่างสั้น และแผ่นสุดท้ายเป็นรูปสัญลักษณ์ต่างๆ คาดว่าจารึกทั้ง 11 แผ่นนี้อาจไว้สำหรับบรรจุในสถูปหรือเจดีย์มากกว่าไว้ใช้สอนจริง ส่วนจารึกที่เก่าแก่รองลงมา (The Venerable Great Vehicle) ทำขึ้นเมื่อปีค.ศ. 925-950 เป็นคำสอนภาษาสันสกฤตที่มีภาษาชวากำกับอธิบาย

สำหรับเอกสารอื่นๆ มีอาทิ บันทึกของพระจีนชื่อ ฟาเฉียน (Faxien) ผู้เดินทางไปอินเดียเพื่อนำ คำสอนในพุทธศาสนากลับไปจีน โดยเดินเรือผ่านชวาเมื่อปีค.ศ. 414 ในบันทึกนั้นระบุว่าลัทธิพราหมณ์กำลังรุ่งเรืองอยู่ในอินโดนีเซีย ในขณะที่พุทธศาสนาแทบไม่ปรากฏอยู่เลย

ยังมีบันทึกของชาวพุทธที่เดินทางมาอินโดนีเซียในช่วงศตวรรษที่ 7 - 8 ว่า เกาะชวาและสุมาตราคือศูนย์กลางการศึกษาพุทธศาสนา โดยเฉพาะที่ศรีวิชัย (Sriwijaya) ทางใต้ของเกาะสุมาตราเคยเป็นอาณาจักรสำคัญทางพุทธศาสนาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ตั้งอยู่บนเส้นทางเดินเรือระหว่างจีนกับอินเดีย ทำให้มีพ่อค้าชาวพุทธและพระภิกษุแวะผ่านเพื่อต่อไปอินเดียหรือกลับจากอินเดียอยู่เสมอๆ ดังเช่น พระจีน ชื่อ ไอชิง (I-Ching) เคยศึกษาพุทธศาสนาอยู่ที่ศรีวิชัยนาน 6 เดือนเมื่อปีค.ศ. 671 พระไอชิงมีความประทับใจในมาตรฐานการสอนพุทธศาสนาที่เมืองปาเลมบัง (Palembang) บนเกาะสุมาตรา และสังเกตว่ามีลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ซึ่งรวมถึงการสวดมนต์ต่อพระนาคา พระไอชิงระบุในบันทึกว่ามีพระจีนอีกหลายรูปที่ศึกษาพุทธศาสนาในศรีวิชัย เป็นการศึกษาอย่างเคร่งครัด ทั้งเนื้อหาวิชาและการปฏิบัติเช่นเดียวกับในอินเดีย พระไอชิงศึกษาที่ศรีวิชัยนาน 10 ปีและอินเดียอีก 10 ปี ระหว่างอยู่ศรีวิชัย ได้แปลคำสอนในพุทธศาสนาจากภาษาสันสกฤตเป็นภาษาจีนด้วย นอกจากพระไอชิงแล้ว ในศตวรรษที่ 11 มีพระอติสะ (Atisa) ที่เข้ามาศึกษาพุทธศาสนาแบบตันตริก (ทิเบต) ในศรีวิชัยนาน 12 ปี

                                                  
นอกจากนี้มีพระภิกษุจากมณฑลเสฉวนของจีนและจากทางเหนือของเวียดนามเข้ามาศึกษาพุทธศาสนากับอาจารย์ที่มีชื่อเสียงของเกาะชวา อีกทั้งมีอาจารย์จากหลายประเทศมาสอนพุทธศาสนาในอินโดนีเซีย เช่น ชาวอินเดียชื่อ วัชรโพธิ (Vajrabodhi) ได้ล่องเรือมายังเกาะสุมาตราเมื่อปีค.ศ. 717 และเดินทางต่อไปชวา พบกับพระภิกษุชาวศรีลังกา ชื่อ อโมควัชระ (Amoghavajra) ผู้กลายเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์วัชรโพธิ และเคยร่วมเดินทางไปจีนด้วย จนเมื่ออาจารย์วัชรโพธิเสียชีวิตที่จีน จึงได้เดินทางกลับมาชวาอีกครั้งพร้อมกับจารึกคำสอนที่นำติดตัวไปเพื่อแปลเป็นภาษาจีน พระอโมควัชระกลายเป็นอาจารย์ที่มีชื่อเสียง หนึ่งในลูกศิษย์คือ Huiguo ผู้ซึ่งต่อมาได้เป็นอาจารย์สอนพุทธศาสนาให้กับชาวชวาและชาวญี่ปุ่น หลายคน เชื่อกันว่ามีชาวญี่ปุ่นผู้หนึ่งก่อตั้งนิกาย Shingon ในญี่ปุ่น กล่าวกันว่าคำสอนและการปฏิบัติของนิกายดังกล่าวมีความใกล้เคียงกับพุทธศาสนาในชวามาก ดังเช่น การใช้รูปแบบจักรวาล

ในยุคอาณาจักรแรกๆ ของอินโดนีเซียนั้น พุทธศาสนาและฮินดูได้รับการยอมรับและปฏิบัติเคียงคู่กันมา ไม่ปรากฏความขัดแย้งระหว่างกัน ทั้งสองศาสนาต่างใช้ภาษาสันสกฤต อีกทั้งมีแนวคิดต่อโลกและธรรมชาติคล้ายกัน และยังมีอิทธิพลต่อกันด้วย มีตัวอย่างภาพแกะลายนูนที่บุโรพุทโธแสดงภาพของพราหมณ์กำลังสักการบูชาเจดีย์ของพุทธศาสนา และภาพของเจ้าชายสุทธนะกำลังขอคำแนะนำจากพระศิวะ เป็นต้น

ต่อมาพุทธศาสนาในเกาะชวาเสื่อมลง ขณะที่ยังคงรุ่งเรืองอยู่ในเกาะสุมาตราจนเมื่อศาสนาอิสลามแผ่เข้ามา  ทั้งนี้ พุทธศาสนาในอินโดนีเซียได้พัฒนาไปในทิศทางแบบตันตริก (Tantric) ของทิเบต เห็นได้จากจารึกที่พบบนเกาะชวาและสุมาตราเกี่ยวกับพิธีกรรมต่างๆ

นักประวัติศาสตร์ค้นพบหลักฐาน 2 ฉบับที่กล่าวถึงบุโรพุทโธขณะยังเป็นศูนย์กลางพุทธศาสนา  ในเกาะชวา  ฉบับหนึ่งจารึกเมื่อปีค.ศ. 824 กล่าวถึงโครงสร้างที่แบ่งเป็น 10 ส่วนอันหมายถึงขั้นตอนของการปฏิบัติที่นำไปสู่การเป็นพระโพธิสัตว์ ส่วนฉบับที่สองกล่าวถึงเหตุการณ์ในปีค.ศ. 842 เมื่อราชินีของกษัตริย์องค์หนึ่งทรงนำภาษีที่เก็บจากชาวบ้านไปสนับสนุนพุทธสถานชื่อ Bhumisambhara    (แปลว่า วิหารแห่งการเพิ่มพูนทศบารมี หรือบารมี 10 ประการของพระโพธิสัตว์) เชื่อกันว่าหมายถึงบุโรพุทโธ

บุโรพุทโธสร้างขึ้นโดยกษัตริย์แห่งราชวงศ์ ไศเลนทรา (Sailendra Dynasty) สันนิษฐานว่าสร้าง ระหว่างปีค.ศ. 780-856  (ก่อนการสร้างนครวัดในกัมพูชา 300 ปี) คำว่า “ไศเลนทรา” แปลว่า กษัตริย์แห่งเทือกเขา (Kings of Mountains) ทั้งนี้กษัตริย์ของราชวงศ์ไศเลนทราทรงนับถือพุทธศาสนามหายาน ซึ่งหลายพระองค์ได้ทรงสร้างสถานที่สำคัญทางพุทธศาสนาไว้ทั่วชวากลาง

สถาปนิกผู้ออกแบบบุโรพุทโธชื่อ กุนาดาร์มา (Gunadharma) การก่อสร้างใช้เวลาเกือบ 80 ปีใน ช่วงของกษัตริย์หลายพระองค์แห่งราชวงศ์ไศเลนทรา อย่างไรก็ตาม บุโรพุทโธและโบราณสถานอื่นๆ ใกล้เคียงกลับถูกละทิ้งให้รกร้างหลังจากสร้างเสร็จไม่ถึงหนึ่งศตวรรษ ต่อมาเมื่อภูเขาไฟเมอราปีระเบิดรุนแรง ได้พ่นเถ้าถ่านปกคลุมบุโรพุทโธอยู่นานหลายศตวรรษ  จนมีผู้มาพบในภายหลัง ซึ่งคนแรกที่  พบนั้น ไม่ใช่พระหรือนักปราชญ์ แต่เป็นกบฏ ชื่อ นาย กี มัส ดานา (Ki Mas Dana) ราวปี  ค.ศ. 1709     เขากบฏต่อผู้ครองนครแห่งชวากลาง แต่พ่ายแพ้และหนีไปยัง “ภูเขาแห่ง บาราโบดูร์ (Mountain of  Bara-Bodur)”  ผู้ครองนครคือ เจ้าชายปริงกา รายา (Prince Pringga-Laya) ส่งทหารล้อมภูเขานั้นไว้ จับนายกี มัส ดานา ส่งไปประหาร นอกจากนี้ยังมีอีกบันทึกหนึ่งเล่าเรื่องกษัตริย์แห่งย็อกยาการ์ตา ผู้ทรงประกาศไว้ว่าหากมีราชวงศ์องค์ใดไปเยือนสถานที่ที่เป็น “ภูเขาแห่งรูปปั้นพันองค์” จะต้องตาย แต่ปรากฏว่ามกุฎราชกุมารไม่ทรงเชื่อฟังและเสด็จไปทอดพระเนตรเมื่อปีค.ศ. 1758  กษัตริย์พระองค์นั้นทรงส่งคน ไปตาม แต่เจ้าชายสิ้นพระชนม์หลังจากถูกจับนั่นเอง

บุโรพุทโธถูกค้นพบอีกครั้งเมื่อปีค.ศ. 1814 โดยข้าหลวงอังกฤษประจำเกาะชวา ชื่อ โทมัส แสตมฟอร์ด รัฟเฟิลส์ (Thomas Stamford Raffles - ผู้ก่อตั้งสิงคโปร์เมื่อปีค.ศ. 1819) เดินทางมาเยือนเขตเซอมารัง (Semarang) และได้ยินคำร่ำลือเกี่ยวกับ “ภูเขาพระพุทธรูปหินสลัก”  ใกล้เมืองมาเกลัง (Magelang) นายรัฟเฟิลส์แต่งตั้งทหารช่างชื่อ เอช.ซี.ซี. คอร์เนลเลียส (H.C.C. Cornelius) ไปสืบความ   นายคอร์เนลเลียสได้ค้นพบเนินเขาที่มีต้นไม้ปกคลุมหนาทึบ แต่มีก้อนหินภูเขาไฟกระจัดกระจายอยู่  หลายร้อยก้อน ต้องถางพงรื้อถอนต้นไม้และเศษดินในบริเวณนี้อยู่นานถึง 2 เดือน ครั้นเมื่อเริ่มพบว่ามีสิ่งก่อสร้างอยู่ด้านล่าง จึงไม่ยอมให้ขุดอีกต่อไป เพราะเกรงว่าจะทำลายสิ่งที่ยังไม่ทราบว่าเป็นอะไร อย่างไรก็ตาม นายคอร์เนลเลียสได้วาดภาพบุโรพุทโธไว้หลายภาพ (หลงเหลืออยู่เพียง 39 ภาพ) และเขียนรายงานการค้นพบไว้ ซึ่งยังไม่เคยถูกตีพิมพ์ นับเป็นเอกสารสำคัญยิ่งทางประวัติศาสตร์และถือเป็นการบรรยายอย่างละเอียดครั้งแรกของสถานที่ทางพุทธศาสนาที่ใหญ่ที่สุดเช่นนี้  การค้นพบบุโรพุทโธ (ก่อนการค้นพบนครวัดในกัมพูชา 47 ปี) ทำให้ชาวยุโรปตระหนักถึงอารยธรรมที่เจริญรุ่งเรืองอยู่แล้วในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งการแผ่ขยายของพุทธศาสนาจากอินเดียสู่ภูมิภาคนี้มานานกว่าพันปี

บุโรพุทโธถูกทิ้งร้างไปอีกนาน อีกทั้งได้รับความเสียหายจากการผุพังและการทำลายรื้อถอนเพื่อหาทรัพย์สมบัติโดยฝีมือมนุษย์นั่นเอง บุโรพุทโธได้รับการปฏิสังขรณ์ทั้งหมด 2 ครั้ง ครั้งแรกระหว่างปีค.ศ.1907-1911 ในช่วงที่อินโดนีเซียเป็นอาณานิคมของดัตช์ หัวหน้าการปฏิสังขรณ์คือทหารช่างชาวดัตช์ชื่อ  ทีโอโดรัส แวน เอร์พ (Theodorus Van Erp)  ผู้มีความสนใจในโบราณสถานของชวาเป็นอย่างมาก ครั้งที่สองคือระหว่างปีค.ศ. 1974-1983 โดยรัฐบาลอินโดนีเซียร่วมกับองค์การยูเนสโก (UNESCO) เป็นโครงการปฏิสังขรณ์ขนาดใหญ่  ด้วยเงิน 25 ล้านเหรียญสหรัฐ (ในจำนวนนี้เป็นเงิน 6.5 ล้านเหรียญสหรัฐที่บริจาคโดยต่างชาติ รวมทั้งจากไทย) มีการสร้างระบบกันน้ำและการระบายน้ำเพื่อไม่ให้น้ำไหลซึมตามก้อนหินเข้าไปภายใน นอกจากนี้ได้เสริมโครงฐานใต้ดินเพื่อป้องกันการทรุดของบุโรพุทโธ  รัฐบาลอินโดนีเซียยังได้สร้างอุทยานขนาดใหญ่รอบบุโรพุทโธด้วย

                                                                                                
 ปีค.ศ. 1991 องค์การยูเนสโกได้ประกาศยกย่องให้บุโรพุทโธเป็นมรดกโลก  (World Heritage Site) ผู้เชี่ยวชาญได้ศึกษาวิเคราะห์โครงสร้างและลักษณะทางสถาปัตยกรรมของบุโรพุทโธ พบว่าเกิดจากการสร้างด้วย  5 ขั้นตอนในช่วงเวลาเกือบ 80 ปี โดยขั้นแรกสุดเริ่มเมื่อราวปีค.ศ. 780 เป็นการสร้างฐาน 3 ชั้นบนเนินดินเก่าที่เป็นขั้นๆ อยู่เดิม สันนิษฐานกันว่าในสมัยโบราณอาจเป็นที่สำหรับทำพิธีบูชาวิญญาณของบรรพบุรุษ การใช้ที่เดียวกันนี้สร้างบุโรพุทโธขึ้นในกาลต่อมานั้น  อาจเป็นความบังเอิญหรือเพราะเล็งเห็นว่าเป็นบริเวณที่ศักดิ์สิทธิ์อยู่แล้วก็ได้ 

ต่อมาในขั้นที่สองมีการเปลี่ยนแปลงบันไดทางขึ้นและขยายฐานให้กว้างขึ้น รวมทั้งสร้างชั้นสูงขึ้น คือชั้นที่มีฐานสี่เหลี่ยม 2 ชั้นและฐานวงกลมข้างบนอีกหนึ่งชั้น ในขั้นที่สามมีการดัดแปลงเพิ่มเติม โดยรื้อฐานวงกลมชั้นบนนั้นออก และสร้างฐานวงกลม 3 ชั้นสูงลดหลั่นขึ้นไปแทน นอกจากนี้มีการสร้างเจดีย์บนยอดสุดขึ้นในช่วงนี้ด้วย ส่วนขั้นที่สี่และห้ามีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยซึ่งรวมถึงให้มีการแกะสลักลายนูน และสร้างขั้นบันใดและทางเข้ารูปโค้ง เป็นที่สังเกตกันว่า แม้มีการดัดแปลงต่อเติมโครงสร้างของบุโรพุทโธดังกล่าว แต่สัญลักษณ์สำคัญยังคงอยู่ที่องค์เจดีย์ชั้นบนสุด  ในขณะที่ส่วนอื่นๆ ที่อยู่ตามชั้นต่างๆ ลงมานั้นเป็นส่วนประกอบเพื่อสื่อความหมายของบุโรพุทโธนั่นเอง

มองจากที่สูงทางอากาศ บุโรพุทโธมีลักษณะเป็น “mandara” (จักรวาล) ที่มียอดสูงสุดอยู่ที่ เขาพระสุเมร ซึ่งอินเดียเชื่อว่าเป็นศูนย์กลางแห่งจักรวาล โดยบุโรพุทโธคือรูปวงกลมที่ล้อมรอบด้วย สี่เหลี่ยม อันเป็นทรงเรขาคณิตที่มีวัตถุประสงค์หลายอย่าง รวมทั้งการช่วยกำหนดจิตขณะทำสมาธิ ถ้ามองจากพื้นดินในระยะไกล บุโรพุทโธ คือ สถูปขนาดใหญ่  มีฐานสี่เหลี่ยมรองรับองค์สถูปและยอดสถูป หากเมื่อมองใกล้เข้ามาจะเห็นได้ชัดขึ้นว่าบุโรพุทโธมีโครงสร้างทางสถาปัตยกรรม 2 แบบ คือ ส่วนบนเป็นองค์สถูป ตั้งอยู่บนลานวงกลม 3 ชั้นลดหลั่นขึ้นไป ได้รับอิทธิพลแบบอินเดีย ส่วนด้านล่างเป็นรูปแบบปิรามิดขั้นบันได มีลานสี่เหลี่ยม เป็นอิทธิพลของสถาปัตยกรรมแบบชวา นอกจากนี้ มีบางทฤษฎีกล่าวว่า บุโรพุทโธมีลักษณะเหมือนดอกบัวลอยอยู่ในทะเลสาบ ทั้งนี้ ในสมัยก่อนบริเวณแม่น้ำ  โปรโกเคยมีน้ำท่วมที่ดูคล้ายทะเลสาบ 

บุโรพุทโธเป็นพุทธสถานแบบมหายาน มีทั้งหมด  10 ชั้น เป็นเจดีย์หรือวัดที่เปิดกว้าง ไม่มีห้อง แต่อย่างใด พื้นที่โดยรวมเท่ากับ 2,500 ตารางเมตร มีความสูง  34 เมตรจากที่ราบเกฑุ ส่วนที่เป็นฐาน สูง 4 เมตร เป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสยาวด้านละ 113 เมตร ถัดจากฐานขึ้นไปสู่บุโรพุทโธมี 5 ชั้น เป็นลานสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีความแคบลงชั้นละ 4 เมตร ทำให้ดูเหมือนปิรามิดขั้นบันได ระหว่างลานแต่ละชั้น มีแนวระเบียงที่มีกำแพงสูง บนกำแพงเหล่านั้นมีเจดีย์เล็กๆ ตั้งอยู่ตลอดแนว ขณะที่ตามกำแพงและเสาหินมีการแกะสลักลายนูนและรูปปั้นพระพุทธรูปหินหันหน้าออกไปโดยรอบ กำแพงแต่ละชั้นหักมุมกันเป็นระยะๆ ที่ตามมุมเหล่านั้นมีรูป “มกร” เป็นหัวสัตว์หน้าคล้ายจระเข้ มีงวงช้าง เป็นทั้งที่ประดับและท่อระบายน้ำ

พระพุทธรูปหินที่อยู่บนกำแพงรอบลานสี่เหลี่ยมทั้ง 5 ชั้นเหล่านั้น มีทั้งหมด 432 องค์ สูงเท่าคน สร้างจากหินภูเขาไฟ บนชั้นที่หนึ่งถึงสาม แต่ละด้านเป็นพระพุทธรูปที่แสดงพระหัตถ์ในปางต่างๆ กัน กล่าวคือ ด้านตะวันออกเป็นปางธรณีเป็นพยานหลังการตรัสรู้ ด้านใต้เป็นปางแห่งความรักและเมตตา  ด้านตะวันตกเป็นปางสมาธิ  ด้านเหนือเป็นปางแห่งความกล้าหาญ ส่วนลานสี่เหลี่ยมชั้นที่สี่และห้ามีพระพุทธรูปที่ประดิษฐานโดยรอบด้านเป็นปางเทศนา

สำหรับ 3 ชั้นบนที่เป็นลานวงกลม ประดับด้วยเจดีย์ทรงระฆังคว่ำ เรียงรายอยู่รวมทั้งหมด 72 องค์ แต่ละองค์มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 3.4-3.8 เมตร และสูง 3.5-3.75 เมตร ลานวงกลมชั้นล่างมีเจดีย์ 32 องค์ ชั้นกลาง 24 องค์ และชั้นบน 16 องค์ ทั้งนี้ องค์เจดีย์สร้างจากก้อนหินภูเขาไฟที่ตัดและเจาะเป็นรูป กากะบาด  นำมาประกอบติดกัน ทำให้เกิดช่องๆ โดยรอบดังลายตระกล้าสาน มองเห็นด้านในที่เป็นโพรงโปร่งประดิษฐานพระพุทธรูปหินอยู่ เป็นที่สังเกตว่าเจดีย์บนลานวงกลม 2 ชั้นล่าง มีช่องเป็นรูปสี่เหลี่ยม ขนมเปียกปูน ส่วนลานวงกลมชั้นบนสุด เป็นช่องรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส ตีความกันว่าเป็นชั้นสูงสุดหลังการหลุดพ้นแล้ว มีตำนานว่าถ้าเราสามารถเอื้อมมือเข้าไปในเจดีย์บนลานวงกลม ชั้น 2 ที่อยู่ใกล้บันใดทิศตะวันออก โดยผู้หญิงสามารถแตะพระบาท หรือผู้ชายแตะพระหัตถ์ของพระพุทธรูปที่อยู่ภายในได้ จะทำให้ความปรารถนาหรือการอธิษฐานเป็นจริง

ชั้นสูงสุดของบุโรพุทโธ คือที่ประดิษฐานองค์สถูปขนาดใหญ่ ทรงระฆังคว่ำ มีเส้นผ่าศูนย์กลาง  16 เมตร สูง 35 เมตร (จากระดับพื้นที่ราบ) เป็นเจดีย์ทึบหนา ไม่มีพระพุทธรูปหรือสิ่งใดบรรจุอยู่ภายในแต่ก่อนองค์สถูปใหญ่มีความสมบูรณ์กว่านี้ แต่ถูกระเบิดโดยกลุ่มหัวรุนแรงเมื่อปีค.ศ. 1987 หลังจากการซ่อมแซมแล้ว จึงมีสภาพที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน

ทางขึ้นบุโรพุทโธมีทั้ง 4 ด้าน อยู่ตรงกลางของแต่ละด้าน ดูเหมือนกันทุกด้าน ไม่สามารถบอกได้ว่าด้านใดคือด้านหน้า แต่เมื่อพิจารณารูปแกะลายนูนที่อยู่จากชั้นล่างสุดขึ้นมา เป็นเรื่องราวที่เริ่มจากด้านตะวันออกก่อน จึงควรเดินขึ้นบุโรพุทโธทางด้านตะวันออก จากชั้นล่างขึ้นไปสู่ชั้นสูงสุดให้เดินเวียนทักษิณาวัตร บันใดขึ้นสู่แต่ละชั้นอยู่ต่อกันทุกชั้นไปจนถึงองค์สถูปบนยอด ที่ฐานบันใดแต่ละชั้น มีประตูรูปโค้งที่มีรูปหน้าสัตว์อยู่บนยอดและแผ่นหินแกะสลักเป็นลวดลายตามขอบ หน้าสัตว์นั้นคือ     กาละ หรือ หน้ากาล (คาดว่าได้รับอิทธิพลจากจีนที่ไปสู่อินเดียและชวาในเวลาต่อมา) นอกจากนี้มีรูปปั้นสิงโตตั้งคู่อยู่หน้าบันไดราวเป็นผู้ปกป้องคุ้มครองผู้ที่จะเดินผ่านขึ้นไป ทั้งนี้ ตามความเป็นจริงนั้นไม่มีเคยสิงโตอยู่ในเกาะชวา  แต่สิงโตคือสัญลักษณ์ของอาณาจักรแห่งเจ้าชายสิทธัตถะในสมัยพุทธกาล

บุโรพุทโธสร้างด้วยหินภูเขาไฟประมาณ 2 ล้านก้อน สกัดจากก้อนหินขนาดใหญ่ที่อยู่ใกล้แม่น้ำโปรโก  ลากมาสู่ที่ก่อสร้างด้วยแรงม้าและช้าง แล้วจึงแกะหรือสกัดเป็นรูปตามที่ต้องการ  โดยรวมแล้ว พระพุทธรูปหินบนเจดีย์บุโรพุทโธมีทั้งหมด 504 องค์ มีภาพแกะสลักนูน 1460 ภาพและแผ่นภาพแกะ (panel) สำหรับประดับ 1212 แผ่น นอกจากนี้มีภาพแกะอีก 160 ภาพที่อยู่ชั้นล่างสุดแสดงถึงหลักของเหตุผลและเรื่องของกรรม ซึ่งส่วนใหญ่จะเน้นเรื่องการถูกทำโทษจากการทำชั่วด้วยการลงนรก   สังเกต  ได้ว่าภาพแกะลายนูนที่ชั้นล่างสุดนี้ถูกครอบทับด้วยกำแพงอีกชั้นหนึ่งที่ถูกสร้างพร้อมกับการขยายฐานเพิ่มเติมขึ้นภายหลังเพื่อไว้เสริมความมั่นคงให้กับฐานเดิมที่รองรับบุโรพุทโธ  ต่อมาในช่วงที่ญี่ปุ่นยึดครองอินโดนีเซียระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้มีการเปิดภาพแกะลายนูนบางส่วนให้ผู้คนได้ ชมกันทางมุมด้านตะวันออกเฉียงใต้ของบุโรพุทโธ 

บุโรพุทโธแตกต่างจากอนุสรณ์สถานอื่นๆ มีจุดมุ่งหมายหลักที่เป็นเรื่องของความหมายและสัญลักษณ์ จึงเป็นสถานที่สำหรับการศึกษาด้านจิตวิญญาณ ให้เกิดความคิด ความเข้าใจ และนำไปสู่การปฏิบัติเพื่อการพ้นทุกข์ต่อไป เป็นการใช้งานศิลปะและสถาปัตยกรรมอันยิ่งใหญ่ให้เป็นสื่อแทนคำสอนด้วยตัวอักษร ถือเป็นงานสร้างสรรค์ทางด้านวัฒนธรรมของมนุษย์ที่ก่อให้เกิดพลังและผลต่อจิตใจทั้งของผู้ไปเยี่ยมเยือนและผู้ปฏิบัติมาหลายยุคหลายสมัยแม้จนถึงปัจจุบัน

มีบางทฤษฎีระบุว่า ความเชื่อพื้นเมืองของชาวชวาคือการเคารพบรรพบุรุษด้วยการบูชาภูเขาและ  ที่สูง ดังนั้น การสร้างบุโรพุทโธอาจเป็นไปเพื่อเหตุผลของการบูชาดังกล่าว นอกจากนี้ ถ้าเป็นกษัตริย์ที่ นับถือศาสนาฮินดู จะถือว่าพระองค์คือพระศิวะหรือพระวิษณุอวตารมาเกิด ส่วนกษัตริย์ที่นับถือศาสนาพุทธคือพระโพธิสัตว์ที่ประสูติมาเพื่อสั่งสมบารมีและบูชากษัตริย์ที่เป็นบรรพบุรุษของพระองค์ กล่าวกันว่า บุโรพุทโธ คือสิ่งก่อสร้างที่ผสมผสานระหว่างพุทธศาสนามหายานกับลัทธิการบูชาบรรพบุรุษตามวัฒนธรรมท้องถิ่น 

ยังมีการเปรียบว่าบุโรพุทโธคือสัญลักษณ์แทนภพทั้งสามของจักรวาล คือ กามภพ (ภพต่ำสุด)  รูปภพ (ภพระดับกลาง) และอรูปภพ (ภพสูงสุด)  เป็นดั่งขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงของชีวิตมนุษย์ที่สามารถขึ้นไปสู่การพ้นทุกข์ องค์สถูปที่อยู่ตรงกลางชั้นบนสุด  คือสัญลักษณ์ของจักรวาลและการ พ้นทุกข์  ระหว่างลานสี่เหลี่ยมจากชั้นที่ 1 จนถึงชั้นที่ 5 เริ่มจากบันไดด้านตะวันออกไปรอบลานตามเข็มนาฬิกา  เป็นภาพแกะลายนูนเรื่องราวชีวประวัติของเจ้าชายสิทธัตถะจากประสูติจนถึงบรรลุเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า นอกจากนี้ยังมีชาดกของพระองค์ในชาติก่อนๆ และภาพประวัติของพระโพธิสัตว์สุทธนะ (จากกันดะวยุหะ) ซึ่งแสดงไว้บนแผ่นหินพร้อมกับภาพชีวิตของสามัญชน เจ้าฟ้า นักดนตรี นางรำ และนักบุญ มีรายละเอียดด้านชาติพันธุ์วิทยาเกี่ยวกับชีวิตประจำวันของชวาโบราณด้วย   ส่วนลานวงกลม 3 ชั้นบนเปรียบดังขั้นตอนการเปลี่ยนผ่านที่นำไปสู่ชั้นสูงสุด คือ อรูปภพ นั่นเอง ณ บริเวณใกล้เคียงบุโรพุทโธ มีเจดีย์พุทธอีก 2 องค์ ได้แก่ เจดีย์เมินดุต และเจดีย์ปาวอน 

เจดีย์เมินดุต (Candi Mendut) เป็นเจดีย์พุทธที่ใหญ่เป็นอันดับสองรองจากบุโรพุทโธในจังหวัดชวากลาง ตั้งอยู่ในหมู่บ้านเมินดุต บนที่ราบเกฑุ ห่างจากเมืองย็อกยาการ์ตา 38 กิโลเมตร และอยู่ห่างไปทางตะวันออกของบุโรพุทโธ 3 กิโลเมตร เจดีย์เมินดุตหันหน้าไปทางทิศตะวันออก แต่ทางขึ้นอยู่ทิศตะวันตก สร้างปีค.ศ. 824 โดยกษัตริย์แห่งราชวงศ์ไศเลนทรา ฐานของเจดีย์เมินดุตเป็นสี่เหลี่ยมจตุรัส  ที่ฐานและบันใดประดับด้วยภาพแกะลายนูนเรื่องจากชาดกและนิทานพื้นบ้าน  ส่วนใหญ่เกี่ยวกับสัตว์   ให้ข้อคิดและคติประจำใจ สำหรับองค์เจดีย์นั้น มีรูปร่างคล้ายทรงแปดเหลี่ยม  ด้านนอกประดับด้วยแผ่นหินแกะสลักลายนูนจำลองเรื่องราวของพระโพธิสัตว์และเจ้าแม่กวนอิม นับเป็นรูปแกะสลักขนาดใหญ่ ที่สุดที่ค้นพบในเจดีย์หรือวัดของอินโดนีเซีย  

ภายในเจดีย์เมินดุตเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปที่งามยิ่ง 3 องค์ แกะจากศิลาขนาดใหญ่ คือ กลางห้องมีพระศากยมุนีประทับนั่งห้อยขาทั้ง 2 ข้าง สูง 3 เมตร เป็นปางปฐมเทศนา มีธรรมจักรและรูปสลักกงล้อเล็กๆ แทรกระหว่างกวางสองตัว  ส่วนกำแพงด้านซ้ายมีรูปปั้นพระโพธิสัตว์วัชรปาณี สูง 2.5 เมตร ประทับนั่งห้อยขาขวา ส่วนขาซ้ายพับอยู่บนดอกบัว กำแพงด้านขวาเป็นรูปพระโพธิสัตว์ อวโลกิเตศวร สูง 2.5 เมตรเช่นกัน มีพระพุทธรูปเล็กๆ ประดับอยู่หน้ามงกุฎ ประทับนั่งบนแท่นที่มีดอกบัวรองรับ

เจดีย์ปาวอน (Candi Pawon)  อยู่ห่างจากเจดีย์เมินดุตไปทางตะวันตก 1 กิโลเมตร และห่างจาก บุโรพุทโธไปทางตะวันออก 1.7 กิโลเมตร มักเรียกกันว่าเป็นระเบียงหน้าบ้านของบุโรพุทโธ เพราะอยู่ใกล้กันมาก ลักษณะทางสถาปัตยกรรมและการตกแต่งคล้ายกับเจดีย์เมินดุต คือ ตั้งอยู่บนผืนสนามหญ้า สี่เหลี่ยมผืนผ้า ประตูทางขึ้นอยู่ทิศตะวันตกเฉียงใต้ มีรูปปั้นอยู่ตามมุมกำแพทั้ง 4 ด้าน ที่ตามกำแพง โดยรอบองค์เจดีย์มีแผ่นหินแกะสลักลายนูนรูปเทพองค์ต่างๆ เปรียบเสมือนเทพจากสรวงสวรรค์ เป็นอิทธิพลของศาสนาฮินดูที่ผสมผสานอยู่ หากมองจากที่สูงจะเห็นได้ว่าเจดีย์พุทธทั้ง 3 องค์ คือ บุโรพุทโธ  เมินดุต และปาวอน ตั้งเป็นแนวเส้นตรงต่อกัน เชื่อกันว่าเป็นความตั้งใจของผู้สร้างนั่นเอง

ขอกล่าวถึงสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งเพิ่มเติมด้วย คือ เจดีย์ปรัมบานัน (Candi Prambanan) ห่างจากเมืองย็อกยาการ์ตาไปทางตะวันออก 17 กิโลเมตร ผ่านสนามบินและทางหลวงย็อกยา-โซโล ตัดผ่าน  ที่ราบภูเขาไฟที่เต็มไปด้วยซากโบราณสถาน ชาวชวากลางถือว่า จันดี หรือเจดีย์เหล่านี้คือสุสานของราชวงศ์ด้วย ดังนั้น ย่านนี้จึงเป็นที่รู้จักกันในนาม “หุบเขาแห่งกษัตริย์หรือหุบเขาแห่งความตาย”  ตรงกลางของที่ราบนี้เป็นที่ตั้งของเจดีย์ปรัมบานัน ซึ่งเป็นเทวาลัยในศาสนาฮินดู สร้างเสร็จเมื่อปีค.ศ. 856  เพื่อฉลองชัยของระไก ปีกาตัน (Rakai Pikatan) ทายาทผู้สืบทอดราชวงศ์สันชัย ซึ่งชนะเจ้านครหลวง   ชวากลางองค์สุดท้ายของราชวงศ์ไศเลนทรา คือ บาลาบุตรา (Balaputra) ผู้หนีไปเกาะสุมาตราและขึ้นเป็นผู้ปกครองอาณาจักรศรีวิชัยในเวลาต่อมา 

ปรัมบานัน มีอีกชื่อหนึ่งว่า Lara Jonggrang เป็นหมู่เทวาลัย 8 หลัง มีเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานระหว่างพุทธกับฮินดู  เจดีย์ที่ใหญ่สุดมี 3 หลังเรียงจากเหนือไปใต้ คือ เจดีย์พระศิวะมหาเทวา สูง 47 เมตร ขนาบข้างด้วยเจดีย์ขนาดเล็กกว่า คือ เจดีย์พระวิษณุ  (ทางเหนือ) และเจดีย์พระพรหม (ทางใต้) ฝั่งตรงข้ามของแต่ละเจดีย์ทั้งสามองค์นี้ คือ เจดีย์เล็กๆ ภายในประดิษฐาน “พาหนะทรง”  ของเทพเจ้าแต่ละองค์ นั่นคือ วัว (โคนันทิ) ของพระศิวะ  หงส์ (อังสะ) ของพระพรหม และครุฑ (garuda) ของพระวิษณุ ปัจจุบันเหลือแต่ โคนันทิ  ส่วนด้านนอกโดยรอบของเจดีย์ทั้งสามองค์ มีภาพแกะสลักลายนูนจำลองเรื่องมหากาพย์รามายณะ

จำนวนผู้อ่านบทความ  free hits