มนต์เสน่ห์แห่งมอลตา

 

 บทความและภาพถ่ายโดย ศิริสุภา  อมาตยกุล

       เมื่อกล่าวถึงประเทศที่เป็นเกาะเล็กๆ ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนที่ชื่อว่าสาธารณรัฐมอลตา (The Republic of Malta) หลายคนอาจจะเคยได้ยิน รู้จัก หรือได้ไปเที่ยวมาแล้ว ในขณะที่อีก หลายๆ คนอาจเพียงเคยได้ยินชื่อ แต่ไม่รู้จักหรือได้เคยไปเที่ยว  ผู้เขียนมีโอกาสไปประเทศมอลตาเมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ. 2012 โดยได้ไปชมเมืองและสถานที่สำคัญต่างๆ และเห็นความเป็นอยู่ของคนมอลติส (Maltese)  รู้สึกมีความประทับใจในมนต์เสน่ห์ของประเทศนี้เป็นอย่างมาก ทำให้รู้ว่าแม้มอลตาจะมีขนาดเล็กมาก แต่ก็เป็นประเทศที่มีอารยธรรมและประวัติศาสตร์มายาวนาน อีกทั้งมีประเพณีและวัฒนธรรมที่น่าสนใจและน่าศึกษาเป็นอย่างยิ่ง จึงขอเล่าเรื่องเกี่ยวกับประเทศนี้เพื่อให้เป็นที่รู้จักกันมากขึ้น

       ประเทศไทยมีประวัติการติดต่อสัมพันธ์กับประเทศมอลตามายาวนาน พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ได้เคยเสด็จฯ เยือนประเทศมอลตาเมื่อปี ค.ศ. 1907 (พ.ศ. 2440)  ส่วนฝ่ายมอลตาได้มีนาย Guido de Marco รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของมอลตามาเยือนประเทศไทยเมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๙๓ (พ.ศ. ๒๕๓๖) สำหรับวันสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศไทยกับประเทศมอลตา คือวันที่ 17 ธันวาคม ค.ศ. 1984 (พ.ศ. 2527) คนไทยที่อาศัยอยู่ในมอลตามีประมาณ 150 คน ซึ่งส่วนใหญ่แต่งงานกับชาวมอลติส ในปัจจุบันนี้ สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ ทำหน้าที่ดูแลประเทศมอลตาด้วย

       มอลตา เป็นประเทศเกาะที่ตั้งอยู่เกือบกึ่งกลางทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ห่างจากเกาะซิซีลีของประเทศอิตาลี เพียงแค่ 73 กิโลเมตร และประมาณ ๒๙๐ กิโลเมตรจากชายฝั่งแอฟริกาเท่านั้น  มอลตามีเนื้อที่ ๓๑๖ ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วยเกาะหลักๆ จำนวน 3 เกาะคือ เกาะมอลตา (Malta) เกาะโกโซ (Gozo) และเกาะโคมิโน (Comino) นอกจากนั้นยังมีเกาะเล็กๆ ชื่อ โคมินอตโต (Cominotto) ฟิลฟลา (Filfla) และ เซนต์พอล (St Paul) ซึ่งไม่มีผู้อาศัยอยู่เลย  มอลตาตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ  ทำให้ประเทศนี้เป็นเสมือนสะพานเชื่อมการติดต่อกันระหว่างทวีปยุโรปกับทวีปแอฟริกานับตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน

       มอลตาไม่มีภูเขาและแม่น้ำ ดังนั้นประเทศจึงต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงาน น้ำและอาหารจากต่างประเทศเนื่องจากมีข้อจำกัดด้านขนาดพื้นที่และขาดพลังงานน้ำ มอลตามีประชากรประมาณ 405,000 คนเท่านั้น เมืองหลวงของมอลตาคือ วัลเลตตา (Valletta) ศาสนาหลักได้แก่ ศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก ซึ่งนับถือประมาณร้อยละ 90 ของประชากรทั้งหมด สินค้าส่งออกที่สำคัญคือ สินค้าทางการเกษตร ปลาทะเล มันฝรั่ง มะเขือเทศ องุ่น นม และไข่ 

    
        สภาพสิ่งแวดล้อมของมอลตามีลักษณะทางทะเลเมดิเตอร์เรเนียนตอนใต้  อุณหภูมิอยู่ระหว่าง 7 - 17 องศาเซลเซียสในช่วงเดือนมกราคม และระหว่าง ๒๐ - ๓๓ องศาเซลเซียสในช่วงเดือนกรกฎาคมของทุกปี  มอลตามีภูมิประเทศที่สวยงามมาก ล้อมรอบด้วยทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ที่มีสีน้ำทะเลที่สดใส มีหาดและเชิงผาริมชายฝั่งและถ้ำมากมาย นอกจากนั้นยังมีป้อมปราการใหญ่และกำแพงเมืองเก่าอยู่หลายแห่ง สร้างขึ้นในยุคสมัยต่างๆ ที่ผ่านมาเพื่อใช้ในการสู้รบและป้องกันมอลตา ซึ่งป้อมปราการและกำแพงเมืองเก่าบางแห่งยังอยู่ในสภาพที่ค่อนข้างสมบูรณ์ให้เห็นได้มาจนถึงปัจจุบัน เกาะมอลตาเป็นเกาะใหญ่ที่สุดของประเทศ ทางตอนเหนือมีลักษณะเป็นเนินเขาเป็นระยะๆ มีผู้คนอาศัยและบ้านเรือนที่อยู่กันอย่างหนาแน่น โดยมีถนนสายเล็กๆ เข้าออกเขตและเมืองต่างๆ ส่วนทางตอนใต้ของเกาะจะเห็นทุ่งหญ้าเพาะปลูกทางเกษตรที่มีพื้นที่กว้างขวางมากขึ้น อาทิ ไร่องุ่น มะเขือเทศ มันฝรั่ง บนเกาะมอลตามีที่จอดเรือประมงและเรือยอร์ชหลายแห่งทั้งภายในและบริเวณรอบเกาะ การเดินทางตามแนวชายฝั่งของเกาะมอลตาทำให้เห็นถึงความมีเสน่ห์ของเกาะและรู้สึกได้ถึงความสุขสงบเป็นอย่างยิ่ง

      จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ได้มีชนกลุ่มหลายเผ่าและเชื้อชาติเดินทางมาตั้งถิ่นฐาน บนเกาะต่างๆ ของมอลตา เป็นพวกที่มาจากฟีนีเชียน (Phoenicians) ประมาณ 800 – 480 ปี     ก่อนคริสตกาล  นอกจากนี้มีพวกคาร์เธจ (Carthage) ซึ่งเป็นพวกที่มาจากฟีนีเชียนประมาณ  480 – 218  ปีก่อนคริสตกาล พวกโรมัน ประมาณ 218 ปีก่อนคริสตกาล – ค.ศ. 870 ชาวอาหรับ ประมาณ ค.ศ. 870 –  1070  พวกนอร์มัน (Normans) ซึ่งมาจากทางตอนเหนือของยุโรป ประมาณ ค.ศ. 1070 – 1530  ชาวฝรั่งเศส ประมาณค.ศ. 1798 – 1800  และชาวอังกฤษ ประมาณปีค.ศ. 1800 – 1964 ดัวยเหตุนี้ จึงทำให้สามารถเห็นมอลตาในปัจจุบันที่มีศิลปะและอารยธรรมที่ผสมผสานหลากหลายจนกลายเป็นเสน่ห์ที่น่าศึกษาเป็นอย่างยิ่ง มอลตาเป็นประเทศเอกราชภายใต้คอมมอนเวลส์ (Commonwealth of Nations) ในปี ค.ศ. ๑๙๖๔   

      มอลตาตกอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษเป็นเวลานานกว่า 150 ปี จีงทำให้มอลตา มีรูปแบบการปกครอง ตลอดจนโครงสร้างทางการเมืองและกฎหมายที่คล้ายกับของอังกฤษ   มอลตาเข้าเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป (European Union) เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 2008 และยูโรโซน (Eurozone) เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 2007 ภาษาราชการ คือ ภาษามอลติส และภาษาอังกฤษ ประเทศมอลตาเริ่มใช้เงินตราสกุลยูโร (Euro)  เมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 2008

                          
      ศาสนาคริสต์ที่เข้ามาในมอลตามีประวัติที่น่าสนใจมาก ตาม The Acts of the Apostles  บทที่ 27 และ 28 ได้กล่าวถึงการเดินทางโดยเรือของสาวกเซนต์พอล (St Paul) ซึ่งเดินทางจากเมืองเอเครอ (Acre) ไปโรม ในระหว่างการเดินทางนั้น เรือได้ผจญกับพายุอย่างหนักในช่วงหน้าหนาว จนกระทั่งเกิดเรือล่มที่ชายฝั่งของเกาะมอลตาในปี ค.ศ. 60 ต่อมาในบริเวณนี้จึงเรียกกันว่าอ่าวเซนต์พอล (St Paul’s Bay) สาวกเซนต์พอล รวมทั้งกัปตันและลูกเรือได้พักอาศัยและหลบพายุในช่วงหน้าหนาวบนเกาะแห่งนี้  จึงได้มีการสร้างรูปปั้นของเซนต์พอลและโบสถ์เล็กไว้ที่ริมอ่าวเพื่อเป็นการรำลึกถึงเหตุการณ์เรือล่มในครั้งนั้น  เป็นที่เชื่อกันว่าคำสอนของศาสนาคริสต์ได้เริ่ม   เผยแผ่โดยเซนต์พอลให้คนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่บนเกาะมอลตาได้รู้จักและนับถือกันต่อมา หลักฐานที่เห็นได้ชัดคือในเขตบริเวณเมืองเก่าที่ชื่อว่า เมลิตา (Melitah) ซึ่งในปัจจุบันอยู่ในบริเวณเมืองราบัด (Rabat) มีสุสานใต้ดินที่เป็นอุโมงค์อยู่เป็นจำนวนมาก เป็นที่ที่ชาวคริสเตียนไว้ใช้ในการประกอบพิธีฝังศพใต้ดินในยุคนั้น  

     ในช่วงปีค.ศ. 535 จักรพรรดิจัสติเนียน (Justinian) แห่งโรมันตะวันออกได้ปกครองมอลตา (และเกาะซิซีลีของประเทศอิตาลี) ทำให้มอลตา (และเกาะซิซีลี) เป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรคริสเตียนทางตะวันออก (Byzentium) ต่อมาในปี ค.ศ. 870 เมื่อพวกอาหรับเข้ายึดครองมอลตาได้ จึงเปลี่ยนเป็นศาสนาอิสลาม และในปี ค.ศ. 1090 เมื่อพวกนอร์มันเข้าปกครองมอลตา ทำให้มอลตาเปลี่ยนมาเป็นศาสนาคริสต์ นิกายคาทอลิก ในช่วงนั้น ศาสนาคริสต์เจริญรุ่งเรืองมากและกลายเป็นศาสนาที่เด่นชัดของชาวมอลติสต่อมา ดังจะเห็นได้จากการสร้างโบสถ์คริสเตียนหลายแห่งโดยมีสถาปัตยกรรมการสร้างที่มาจากยุคนั้นเรื่อยมา 

     มอลตามีอารยธรรมเก่าแก่ยาวนาน นับตั้งแต่สมัยยุคก่อนประวัติศาสตร์ (Prehistoric) โดยประมาณ 5200 ปีก่อนคริสตกาล มีหลักฐานการเริ่มตั้งถิ่นฐานของคนกลุ่มแรกในมอลตาที่เดินทางมาทางทะเลจากเกาะซิซิลีของประเทศอิตาลี หรือเดินทางข้ามแผ่นดินที่ต่อเชื่อมยุโรปกับชายฝั่งแอฟริกาทางตอนเหนือในช่วงนั้น ดังจะเห็นได้จาก “วิหารศิลา” (Megalithic Temples คำว่า “วิหารศิลา” เป็นคำแปลที่ผู้เขียนแปลขึ้นจากคำว่า “Megalithic Temples” ตามลักษณะที่เห็นชัดและเพื่อความสะดวกในความเข้าใจ) ซึ่งตั้งอยู่ในที่โล่งกว้าง เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาและความเชื่อต่างๆ สร้างขึ้นเมื่อราว 4800 ปีก่อนคริสตกาล นอกจากนี้ ยังปรากฏหลักฐานการทำพิธีกรรมเกี่ยวกับความตายที่เริ่มขึ้น ณ วิหารศิลาแห่งนี้ด้วย

ยุคก่อนประวัติศาสตร์ของมอลตาแบ่งออกเป็น 3 ยุคดังนี้   

ยุคต้นของนิโอลิติก (Early Neolithic) (ประมาณ 5200 - 4100 ปีก่อนคริสตกาล)

ยุคปลายของนิโอลิติก  (Late Neolithic Age) (ประมาณ 4100 – 2500 ปีก่อนคริสตกาล)

             ยุคสำริด (Bronze Age) (ประมาณ 2500 - 750 ปีก่อนคริสตกาล)

                                

      ในช่วงปลายยุคนิโอลิติก ชนกลุ่มต่างๆ ที่อาศัยอยู่ที่เกาะของมอลตาได้เริ่มมีศิลปะและวัฒนธรรมของตัวเอง มีการเริ่มปั้นรูปปั้น และการทำภาชนะใช้สอยที่ปั้นจากดินเหนียวหรือแกะสลักจากหิน นอกจากนี้ยังมีสิ่งก่อสร้างที่มีลักษณะเป็นวิหารศิลาอยู่หลายแห่ง  ตามหลักฐานทางโบราณคดีและวัฒนธรรมนั้น  มอลตาเป็นที่ตั้งของวิหารศิลาที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ซึ่งวิหารศิลาเหล่านี้ประกอบด้วยหินก้อนใหญ่ๆ ที่ถูกตัดขึ้นแล้วจัดตั้งเป็นชั้นทั้งแนวนอนและแนวตั้ง  เพื่อใช้เป็นที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาและความเชื่อในสมัยนั้น รวมทั้งยังใช้เป็นสุสานฝังศพอีกด้วย  กล่าวกันว่าวิหารศิลาเหล่านี้มีลักษณะคล้ายกับ Stonehenge ในประเทศอังกฤษ ในบางแห่งมีวิหารศิลาที่ถูกสร้างขึ้นหลายวิหารและอยู่รวมกันในสถานที่กว้างใหญ่เดียวกัน สถานที่เหล่านี้มีลักษณะ เป็นเอกลักษณ์ที่แปลกและน่าสนเท่ห์ซึ่งยังคงหลงเหลืออยู่ในปัจจุบันและได้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ ให้คนได้ไปชมกัน ใครก็ตามที่ได้เห็นแล้วก็คงแปลกใจและรู้สึกสนเท่ห์กับวิหารศิลาเหล่านี้ที่   สร้างขึ้นโดยคนในสมัยยุคก่อนประวัติศาสตร์ 

      วิหารศิลาที่น่าสนใจที่ผู้เขียนได้ไปชมบนเกาะมอลตา มีชื่อว่า Hagar Qim และ Mnajdra Temples  เป็นสถานที่ที่มีวิหารศิลาหลายวิหารตั้งอยู่รวมกลุ่มกัน มีอายุประมาณ 3000 – 2500 ปีก่อนคริสตกาล สถานที่แห่งนี้ได้ถูกเริ่มสำรวจตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 19 ขณะนี้เป็นพิพิธภัณฑ์  วิหารศิลานี้แบ่งออกได้เป็นชั้นๆ คือชั้นนอก ชั้นกลาง และชั้นใน โดยเริ่มจากทางเข้าที่มีก้อนหินใหญ่ลักษณะคล้ายรูปเห็ด และมีหินที่ถูกจัดวางโดยมีลักษณะคล้ายแท่นบูชา สถูปหรือเจดีย์เล็กๆ  อยู่ในส่วนต่างๆ ของวิหาร มีแนวทางเดินเป็นชั้นในแต่ละระดับที่ประกอบไปด้วยห้องเล็กๆ ที่ใช้ทำกิจกรรมและพิธีกรรมต่างๆ ล้อมรอบด้วยหินที่ถูกจัดวางให้เป็นกำแพงรอบวิหาร ในบางส่วนมีการขุดใต้ดินเพื่อใช้เป็นสุสาน ภายในสถานที่นี้ได้มีการค้นพบหลักฐานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาและความเชื่อในสมัยโบราณ รวมทั้งพิธีที่เกี่ยวกับความตาย นอกจากนั้นยังได้มีการค้นพบรูปปั้น ภาชนะเครื่องใช้ และศิลปวัตถุที่แกะสลักจากก้อนหินใหญ่และดินเหนียวที่เป็นรูปสัตว์ และรูปคน แสดงลักษณะเพศหญิงและชายที่ค่อนข้างชัดเจน  สิ่งเหล่านี้ได้ถูกนำไปเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์ต่างๆ ในมอลตา รูปปั้นที่มีชื่อเสียงที่ค้นพบที่วิหารศิลาแห่งนี้คือ รูปปั้นวีนัสแห่งมอลตา (Venus of Malta)  ปั้นด้วยดินเหนียว มีความสูง 13 เซนติเมตร และขนาดกว้างที่บริเวณไหล่ 6.5  เชนติเมตร ขณะนี้อยู่ที่พิพิธภัณฑ์ทางโบราณคดีที่เมืองวัลเลตตา ของมอลตา

      บนเกาะมอลตายังมีวิหารศิลาอีกแห่งคือ Tarxien Temples มีลักษณะสลับซับซ้อนและมีโครงสร้างที่ประกอบด้วยวิหารอยู่ 4 แห่งที่เห็นเด่นชัดอยู่รวมในบริเวณเดียวกัน วิหารแห่งนี้มีศิลปวัตถุ ภาชนะบรรจุ เครื่องใช้สอย และรูปปั้นหินและดินเหนียวที่เป็นรูปคนและสัตว์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่มากที่สุดในมอลตา บางรูปปั้นมีขนาดสูงถึง 2 เมตร ศิลปวัตถุ ภาชนะต่างๆ ตลอดจนรูปปั้นหินและดินเหนียวเหล่านี้บ่งบอกถึงความเชื่อทางศาสนาหรือพิธีกรรมในยุคสมัยนั้น  ทั้งนี้ ศิลปวัตถุ ภาชนะและรูปปั้นที่วิหารศิลา Tarxien Temples นี้เพิ่งได้รับความสนใจในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 นี่เอง ส่วนใหญ่ถูกนำไปเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์ทางโบราณคดีที่เมืองวัลเลตตา  

      นอกจากนี้บนเกาะโกโซ (Gozo) ของมอลตา มีวิหารศิลา ชื่อ Ggantija สร้างขึ้นระหว่าง 3600 – 2200 ปีก่อนคริสตกาลโดยกลุ่มชาวนาและพวกเร่ร่อนที่อาศัยอยู่บนเกาะโกโซ วิหารศิลาแห่งนี้มีลักษณะคล้ายกับวิหารศิลาที่ Hagar Qim และ Mnajdra Temples  มีการสำรวจและเริ่มขุดเมื่อราวปี ค.ศ. 1826 ลักษณะของวิหารศิลา Ggantija  เป็นการสร้างวิหารรวมกันเป็นกลุ่มโดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลักๆ ส่วนทางใต้จะมีอายุเก่าที่สุด สร้างขึ้นประมาณ 3600 ปีก่อนคริสตกาล และส่วนทางเหนือถูกสร้างขึ้นเมื่อประมาณ 2200 ปีก่อนคริสตกาล มีทางเข้าออกทางเดียวกัน มีกำแพงหินที่ตั้งขึ้นสูงโดยรอบวิหารทั้งสองส่วนนี้  หินที่ประกอบกันเป็นวิหารเป็นหินปูน (Limestones)  ส่วนภายในวิหารศิลาแห่งนี้ ได้มีการค้นพบสิ่งประดิษฐ์และรูปปั้นทั้งคนและสัตว์ รวมทั้งภาชนะ เครื่องใช้สอยและศิลปวัตถุต่างๆ มากมาย แสดงให้เห็นถึงอารยธรรมและประเพณีทางวัฒนธรรมในด้านพิธีทางศาสนาและความเชื่อ รวมทั้งพิธีฝังศพในยุคก่อนประวัติศาสตร์ วิหารศิลาแห่งนี้ถูกจัดให้เป็นสถานที่อ้างอิงทางโบราณคดีที่สมบูรณ์แห่งหนึ่งของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นวิหารศิลาที่สร้างขึ้นในยุคสัมฤทธิ์ 

                                                                                                                  

       วิหารศิลาที่กล่าวมาข้างต้นมีลักษณะตั้งเป็นอิสระ (free-standing) ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก วิหารศิลาทั้งที่บนเกาะมอลตาและเกาะโกโซนี้ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยองค์การยูเนสโก (UNESCO) ในปี ค.ศ. 1980 โดยที่วิหารศิลา Hagar Qim, Mnajdra และ Tarxien Temples ได้รับขึ้นทะเบียนในประเภทที่มีลักษณะการสร้างที่เป็นเอกลักษณ์และยิ่งใหญ่แม้มีข้อจำกัดในเรื่องของอุปกรณ์และเครื่องมือในยุคก่อนประวัติศาสตร์ ส่วนวิหารศิลา Ggantija บนเกาะโกโซได้รับขึ้นทะเบียนในประเภทที่มีโครงสร้างที่ใหญ่มโหฬารที่สร้างขึ้นในสมัยยุคสำริดที่มีความสมบูรณ์มากมาจนถึงยุคปัจจุบัน  หากใครมีโอกาสได้ไปประเทศมอลตาไม่ควรพลาดในการเข้าชมวิหารศิลาที่กล่าวมาเหล่านี้ และจะได้เห็นความมหัศจรรย์ที่
ยิ่งใหญ่ในสิ่งก่อสร้างที่เป็นหินที่เกิดขึ้นในสมัยยุคก่อนประวัติศาสตร์   

       นอกเหนือจากวิหารศิลาที่กล่าวมาแล้ว  มอลตายังคงมีสถานที่อีกหนึ่งแห่งที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยองค์การยูเนสโกในปี ค.ศ. 1980 คือ วิหารใต้ดิน (The Hypogeum) ที่เมือง  Hal Saflieni ซึ่งเป็นอุโมงค์ที่สร้างขึ้นเป็นวิหารใต้ดิน แกะสลักจากหินทั้งหมด จากหลักฐานทางโบราณคดีนั้น วิหารใต้ดินแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นในช่วงระหว่างปี 3600 - 2500 ปีก่อนคริสตกาล และเป็นแห่งเดียวของโลกที่สร้างขึ้นในยุคก่อนประวัติศาสตร์  วิหารใต้ดินนี้มีบริเวณที่กว้างใหญ่มาก โครงสร้างมีอยู่ 3 ระดับชั้นติดต่อกัน และแบ่งเป็นห้องต่างๆ เช่นห้องโถง ห้องเล็กๆ ทางเดิน ที่ต่อเชื่อมกัน มีลักษณะที่สลับซับซ้อนคล้ายเขาวงกต (Labyrinth) ชั้นล่างสุดมีความลึกถึงประมาณ 10.6 เมตร วิหารใต้ดินแห่งนี้ถูกค้นพบในปี ค.ศ. 1902 โดยบังเอิญโดยช่างก่ออิฐ  นักโบราณคดีสันนิฐานจากหลักฐาน ศิลปวัตถุ รูปปั้น และโครงกระดูกที่ค้นพบว่า วิหารนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้ประกอบพิธีกรรมเกี่ยวกับการนับถือบรรพบุรุษและความตาย และยังใช้เป็นที่ฝังศพจำนวนหลายพันคน ซึ่งคนเหล่านี้ถูกฝังพร้อมกับวัตถุของเครื่องใช้ประจำตัวและเครื่องปั้นดินเผาต่างๆ รูปปั้นที่มีชื่อเสียงที่ถูกค้นพบในวิหารใต้ดินแห่งนี้คือรูปปั้นผู้หญิงนอน “The Sleeping Lady”  ปัจจุบันอยู่ในพิพิธภัณฑ์โบราณคดีที่เมืองวัลเลตตา

      มอลตายังมีเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับ “กลุ่มอัศวินเซนต์จอห์นแห่งเยรูซาเล็ม” (The Knights of the Order of St John of Jerusalem) ซึ่งเป็นกลุ่มอัศวินที่ได้รับการเอ่ยถึงและรู้จักกันมากเนื่องจากมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์เป็นอย่างยิ่งสำหรับประเทศมอลตา มีสัญลักษณ์ประจำตัวคือ “รูปกางเขนแปดแฉก (Eight-pointed Cross)  กลุ่มอัศวินนี้เริ่มก่อตั้งขึ้นที่กรุงเยรูซาเล็มเมื่อประมาณปี ค.ศ.1095 ในชื่อว่า The Knights Hospitallers  ประกอบด้วยกลุ่มพระที่ทำหน้าที่ดูแลและรักษาพยาบาลผู้แสวงบุญและนักบุญที่เจ็บหรือล้มป่วยลงในดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์ (The Holy Land)  ต่อมาพวกนักบุญและผู้แสวงบุญถูกโจมตีเป็นประจำ จึงทำให้กลุ่มพระเหล่านี้ เริ่มเปลี่ยนบทบาทมาทำหน้าที่ในการคุ้มครองความปลอดภัยให้พวกนักบุญและผู้แสวงบุญต่างๆ แทนที่จะทำหน้าที่ดูแลรักษาพยาบาลเพียงอย่างเดียว ดังนั้นทำให้การคัดเลือกอัศวินต่อมาเปลี่ยนเป็นการเลือกคนที่สามารถต่อสู้และรักษาความปลอดภัยได้ กลุ่มอัศวินเหล่านี้ ส่วนใหญ่ มาจากกลุ่มคนและครอบครัวของชนชั้นสูงและชนชั้นปกครองในประเทศฝรั่งเศส อิตาลี สเปน โปรตุเกส และอังกฤษ  ในภายหลัง กลุ่มอัศวินนี้ได้ถูกขับไล่จากดินแดนอันศักดิ์สิทธ์โดยพวก  ออตโตมัน (Ottoman) จึงย้ายไปรวมตัวกันและตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เกาะ Rhodes (อยู่ในประเทศกรีซ)  ในระหว่างปี ค.ศ.1309 – 1522  

      ในปีค.ศ. 1530 กษัตรย์ Charles V แห่งเสปน (ราชวงค์ Hapsburg) ได้จัดสรรดินแดนบนเกาะมอลตาและท่าเรือ Tripoli  ให้แก่กลุ่มอัศวินเซนต์จอห์น ประมาณ 4,000 คน ซึ่งกลุ่มอัศวินเหล่านี้ได้เริ่มตั้งถิ่นฐานในมอลตา ที่เมือง Borgo (ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นVittoriosa) เพราะเป็นเมืองที่มียุทธศาสตร์ที่ดีในการเดินเรือ การป้องกันทางทะเล และมีป้อมปราการ ชื่อ Fort  St Angelo  ต่อมาเมื่ออาณาจักรออตโตมันขยายอิทธิพลไปอย่างกว้างขวาง ทหารออตโตมันได้เข้าโจมตีมอลตาอยู่เรื่อยๆ  การรบครั้งสำคัญทางประวัติศาสตร์ของมอลตาคือในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1565 เมื่อกองทหารเรือของออตโตมันเข้าประชิดมอลตาทางทะเล ซึ่งประกอบไปด้วยกองเรือ 180 ลำ นำทหารประมาณ 30,000 คนเพื่อสู้รบกับมอลตา ในการรบป้องกันมอลตานี้กลุ่มอัศวินเซนต์จอห์น โดยการนำของหัวหน้าที่ชื่อว่า The Grand Master  Jean Parisot de Valette และชาวมอลติสในขณะนั้นได้สู้รบและพยายามป้องกันเมืองสำคัญต่างๆของมอลตา ซึ่งในช่วงเวลาของการรบครั้งนี้ ทหารออตโตมันได้ชัยชนะในหลายแห่ง เช่นที่  St Elmo  อย่างไรก็ตาม เนื่องจากทหารออตโตมันเริ่มเหนื่อยล้าลง ประกอบกับการตัดสินใจและกำลังใจในการต่อสู้ของกลุ่มอัศวินเซนต์จอห์นและชาวมอลติส ทำให้กลุ่มอัศวินเซนต์จอห์นและชาวมอลติสได้ชัยชนะและสามารถขับไล่ทหารออตโตมันไปได้ในวันที่ ๘ กันยายนของปีเดียวกัน นับจากนั้นมา วันที่ ๘ กันยายนของทุกปีถือเป็นวันหยุดของมอลตา เพื่อระลึกถึงชัยชนะในการรบกับพวกออตโตมันในครั้งนั้น การสู้รบนี้เรียกว่า “การปิดล้อมครั้งยิ่งใหญ่ (The Great Siege) คำว่า “การปิดล้อมครั้งยิ่งใหญ่” ผู้เขียนได้แปลขึ้นจากคำว่า  “The Great Siege”  ซึ่งในทางประวัติศาสตร์ได้กล่าวถึงการต่อสู้ครั้งนี้ว่า เป็นการต่อสู้ที่มากกว่าการสู้รบระหว่างกลุ่มอัศวินกับพวกเตอร์ก เพราะเป็นการสู้กันระหว่างตะวันออกกับตะวันตก และระหว่างอิสลามกับคริสเตียนอีกด้วย

      สำหรับเมืองและสถานที่สำคัญๆ ของมอลตาที่ผู้เขียนได้ไปชมมา และเป็นที่ที่คนไปเที่ยวประเทศนี้ไม่ควรพลาดการไปเยี่ยมชม มีหลายแห่ง ดังนี้

เมืองวัลเลตตา (Valletta)

     วัลเลตตา เป็นเมืองหลวงของประเทศมอลตา หรือเรียกอย่างไม่เป็นทางการใน ภาษามอลติสว่า Il-Belt (แปลว่า เมือง) ตั้งอยู่ตอนกลางของเกาะมอลตา มีอาณาเขต 55 เฮกเแตร์ (Hectare) คำว่า “รูปกางเขนแปดแฉก”ผู้เขียนได้แปลขึ้นจากคำว่า “Eight-pointed Cross”และมีประชากรราว 6,300 กว่าคน เมืองวัลเลตตามีอาณาเขตที่ล้อมรอบด้วยกำแพงเมืองเก่าและป้อมปราการโบราณ ทำให้ผู้ได้ไปชมเห็นทั้งความยิ่งใหญ่และโครงสร้างของการป้องกันเมืองโดยทหารในสมัยศตวรรษที่ ๑๕ ที่มีระบบที่ซับซ้อนและมีความก้าวหน้ามาก ลักษณะของถนนรอบเมืองและในเมืองรวมทั้งการจัดวางผังเมืองแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลที่มาจากการป้องกันการสู้รบได้เป็นอย่างดี เมืองวัลเลตตาสร้างขึ้นในปี ค.ศ.1566 โดยหัวหน้าของกลุ่มอัศวินเซนต์จอห์น ชื่อ Grand Master Jean Parisot de Valette ซึ่งการสร้างเมืองนี้สร้างขึ้นหลังจากการปิดล้อมครั้งยิ่งใหญ่ หรือที่รู้จักกันว่า The Great Siege  เพียงไม่นาน

    สถาปัตยกรรมของเมืองวัลเลตตามีลักษณะตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 16 ลงมา เป็นยุคบาโรค (Baroque) และในบางส่วนของเมืองจะเห็นโครงสร้างสถาปัตยกรรมของยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา (Renaissance) ยุคคลาสสิค (Classic) และยุคใหม่อีกด้วย แม้ว่าเมืองวัลเลตตาจะได้รับความเสียหายอยู่บ้างในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ด้วยความสำคัญของเมืองที่เห็นได้ชัดเจนในเรื่องการทหาร การสู้รบและความเกี่ยวข้องกับกลุ่มอัศวินเซนต์จอห์น อีกทั้งเมืองวัลเลตตามีอนุสาวรีย์ (Monuments) อยู่ถึง ๓๒๐ แห่งทั่วเมือง รวมทั้งมีลักษณะสถาปัตยกรรมที่สวยงามและโดดเด่น จึงทำให้เมืองวัลเลตตาได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในปีค.ศ. 1980 โดยองค์การยูเนสโกในประเภทมรดกทางวัฒนธรรม โดยเป็นเมืองที่มีสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์หนาแน่นที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

    การเดินทางเข้าเมืองวัลเลตตาจะนับเริ่มต้นจากประตูเมือง (City Gate) ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ.16964 เมื่อเดินทางผ่านประตูเข้าไปแล้วจะเห็นจัตุรัสใหญ่ เรียกว่า จตุรัสแห่งเสรีภาพ (Freedom Square) และเป็นจุดเริ่มต้นของถนนสายสำคัญต่างๆในเมือง เช่นถนนรีพับบลิค (Republic Road) ซึ่งเป็นถนนที่ยาวและกว้างที่สุดในเมืองวัลเลตตา ในบางเขตถนนในเมืองจะเป็นถนนสำหรับคนเดินเท่านั้น มีสถานที่สำคัญทางราชการ พิพิธภัณฑ์แห่งชาติ พิพิธภัณฑ์ด้านโบราณคดีและด้านศิลปะ และหอสมุดแห่งชาติ  นอกจากนี้มีร้านค้า ร้านอาหารและร้านขายของ ที่ระลึกอยู่ตลอดข้างทาง ที่เมืองวัลเลตตาเป็นที่ตั้งทำเนียบประธานาธิบดีของสาธารณรัฐมอลตา   ซึ่งเคยเป็นพระราชวังสำหรับพักอาศัยของหัวหน้าของกลุ่มอัศวิน (The Grand Masters’ Palace) พระราชวังแห่งนี้ถูกใช้เป็นที่อยู่ของผู้ว่าการอังกฤษเมื่อครั้งที่อังกฤษปกครองมอลตาในช่วงปี ค.ศ.1800 – 1964 และถูกเปลี่ยนให้เป็นทำเนียบของประธานาธิบดีมอลตาเมื่อประเทศมอลตาประกาศอิสรภาพจากอังกฤษในปี ค.ศ. 1964 นอกจากนั้นแล้ว เมืองวัลเลตตายังเป็นที่ตั้งที่ทำการและทำเนียบนายกรัฐมนตรี มีโบสถ์อยู่หลายแห่ง โบสถ์ที่สำคัญของเมืองนี้ที่ผู้เขียนจะกล่าวถึงต่อไป คือ โบสถ์ใหญ่เซนต์จอห์น (St John’s Co-Cathedral)

    เนื่องจากจุดยุทธศาสตร์ของเมืองวัลเลตตาที่ตั้งอยู่ ทำให้เมืองนี้มีหน้าที่ในการป้องกันมอลตาอยู่ตลอดมา จนกระทั่งเมื่อการสู้รบเบาบางและยุติลงในเวลาต่อมา ก็ได้มีการปรับปรุงและปรับเปลี่ยนรูปลักษณ์ของเมืองเพื่อให้มีลักษณะเป็นที่อยู่อาศัยแบบเมืองมากกว่าการป้องกันทางทหารและทางทะเล อาทิเช่น การเปลี่ยนบริเวณที่เคยเป็นที่ตั้งของปืนใหญ่ให้เป็นสวนสาธารณะที่สวยงาม ซึ่งเต็มไปด้วยต้นไม้และดอกไม้สีสันนานาชนิด สวนแห่งนี้มีชื่อว่า Baracca Gardens นอกจากนี้ เมื่อมองจากวิวสูงของเมืองวัลเลตตา จะสามารถเห็นท่าเรือใหญ่  (The Grand Habour) และ “เมือง ๓ เมือง” (The Three Cities) ได้อย่างชัดเจน เมือง 3 เมืองนี้ ได้แก่ เมือง Cospicua, Vittoriosa และ Senglea  ซึ่งเป็นเมืองที่มีหน้าที่ในการต่อสู้เพื่อการป้องกันเกาะมอลตาในอดีตและ มีความสำคัญอย่างมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการปิดล้อมครั้งยิ่งใหญ่  มีกำแพงเมืองเก่าและป้อมปราการใหญ่ที่สร้างไว้โดยรอบของเมืองทั้ง 3 เมือง สร้างขึ้นในสมัยของกลุ่มอัศวินเซนต์จอห์น  เมือง 3 เมืองและท่าเรือใหญ่มีทัศนียภาพที่สวยงามมาก ในปัจจุบันนี้ ในเวลา 12 นาฬิกาของ ทุกวันจะมีทหารมอลติสยิงปืนใหญ่เพื่อเป็นการระลึกถึงการสู้รบและความสำคัญของเมืองวัลเลตตาและเมือง 3 เมืองในการสู้รบทางทะเล ซึ่งการยิงปืนใหญ่นี้เรียกว่า “Baracca Saluting Battery” 

เมืองเอมดินา (Mdina)

     เอมดินา เป็นเมืองเก่าโบราณ ซึ่งตามหลักฐานทางโบราณคดีนั้น เมืองนี้ถูกสร้างขึ้นเมื่อประมาณปลายยุคสำริดในช่วง 1500 – 1000 ปีก่อนคริสตกาล  เมืองเอมดินาเป็นเมืองหลวงเก่าของมอลตาในสมัยยุคกลาง (Medieval) ตั้งอยู่ใจกลางของเกาะมอลตา มีกำแพงเมืองล้อมรอบและตั้งอยู่บนที่สูงประมาณ 150 เมตร หรือ 500 ฟุตจากระดับน้ำทะเล  เอมดินาเป็นหนึ่งในเมืองที่มีกำแพงเมืองเก่าจากยุคกลางที่เห็นชัดที่สุดในโลก เนื่องจากเป็นเมืองที่มีขนาดเล็ก มีความเงียบสงบและไม่ค่อยมีการเดินทางสัญจรเข้าออกเมืองนี้มากเท่าไร เมืองเอมดินาจึงได้รับการขนานนามอีก  ชื่อหนึ่งโดยคนที่อาศัยอยู่และผู้ไปเยือนว่า “เมืองแห่งความเงียบ (The Silent City) คำว่า “เมืองแห่งความเงียบ” เป็นคำแปลที่ผู้เขียนแปลจากคำว่า “The Silent City” ประชาชนที่อาศัยอยู่ในเมืองมีประมาณกว่า 300 คนเท่านั้น เมืองเอมดินามีอาณาเขตที่ติดต่อกับเมืองราบัด (Rabat)

     เมืองเอมดินามีความสำคัญทางประวัติศาสตร์มาหลายยุคสมัย ตามหลักฐานทางโบราณคดี กลุ่มคนแรกที่อาศัยอยู่เมืองนี้ได้แก่พวกฟีนีเชียน ซึ่งเรียกเมืองนี้ว่ามาเลต (Maleth) เป็นเมืองที่มีจุดยุทธศาสตร์ที่ตั้งอยู่เขตที่สูงที่สุดของเกาะมอลตาและอยู่ห่างจากทะเลพอสมควร ซึ่งหมายถึงการห่างจากการบุกรุกจากทางทะเลได้ดี  เอมดินาเป็นเมืองที่เคยใช้เป็นที่ประกอบพิธีการสาบานตนของหัวหน้ากลุ่มอัศวินทุกคนในการที่จะดูแลและปกป้องเกาะต่างๆของมอลตา ในสมัยที่เอมดินาเป็นเมืองหลวงของมอลตา เมืองนี้เป็นที่ตั้งของสำนักสงฆ์ โบสถ์และที่ทำการต่างๆ และในสมัยที่โรมันเข้าครองมอลตา ผู้ว่าการของโรมัน (Roman Governor) ได้สร้างที่อยู่ในเมืองนี้ และมีการกล่าวขานกันว่าสาวกเซนต์พอลเคยมาอาศัยอยู่ที่เมืองนี้หลังจากที่เรือล่มที่เกาะมอลตาด้วย  ในปัจจุบัน เมืองเอมดินาเป็นเมืองสำหรับอยู่อาศัยเท่านั้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นบ้านของตระกูลที่เก่าแก่ที่สุดของชาวมอลติส  ที่เมืองเอมดินามีโบสถ์ที่สวยงามมากตั้งอยู่กลางเมืองที่ชื่อว่า โบสถ์ใหญ่แห่งเอมดินา (The Mdina Cathedral) 

     เมืองเอมดินามีความเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นและเงียบสงบสมกับชื่อที่ได้ถูกขนานนามว่าเป็นเมืองแห่งความเงียบ การเดินทางเข้าไปในเมืองเอมดินา จะผ่านประตูเมืองหลัก (The Main Gate) ซึ่งสร้างขึ้นในปี ค.ศ.1724 มีลักษณะเป็นประตูโค้งด้วยสถาปัตยกรรมยุคบาโรค ใครก็ตามที่ได้เข้าไปในเมืองเอมดินาจะมีความรู้สึกเหมือนกลับเข้าไปอยู่ในยุคกลาง ถนนในเมืองจะมีขนาดแคบมาก เป็นตรอกและซอยเล็กๆ ลัดเลาะไปตามมุมต่างๆ ของเมือง บ้านเรือนจะมีสีเดียวกันหรือคล้ายกันทั้งหมด คือ สีน้ำตาลหรือน้ำตาลอ่อน นอกจากจะเป็นบ้านอาศัยแล้ว ยังมีร้านขายของที่ระลึก ร้านอาหารอยู่บ้าง แต่ที่โดดเด่นคือร้านขายเครื่องแก้วของเอมดินา (Mdina Glass) ก่อนเข้าประตูเมืองจะมีรถม้าที่ตกแต่งอย่างสวยงาม ซึ่งจัดไว้

ต่อหน้า 2

 จำนวนผู้อ่านบทความ  free hits