รับฟังรายการสด
ทรายจรดฟ้า ซะฮาราสู่หิมาลัยทรายจรดฟ้า ซะฮาราสู่หิมาลัย
18:00-18:30 น.

บทความโมเนมวาเซีย และ มิสทราส เมืองโบราณของกรีซ

                    
บทความและภาพประกอบโดย ศิริสุภา กุลทนันทน์  
      
           เมืองโมเนมวาเซีย (Monemvasia) และเมืองมิสทราส (Mystras) เป็นเมืองในประเทศกรีซที่มีเรื่องราวน่าสนใจเป็นอย่างยิ่งนับตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์เป็นต้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีความโดดเด่นในฐานะเป็นเมืองที่มีบทบาทและความสำคัญมากในช่วงยุคโรมันตะวันออก ซึ่งผู้เขียนขอนำมาเล่าสู่กันในบทความนี้ แต่ก่อนที่จะกล่าวถึงเมืองทั้งสองนี้ ผู้เขียนขอเล่าถึงความหมายของยุคโรมันตะวันออกให้ทราบเป็นข้อมูลเบื้องต้นจักรวรรดิโรมันเริ่มต้นจากการที่กรุงโรมเริ่มมีการรวมเมืองและเขตต่างๆ ขึ้นเป็นกลุ่มนับตั้งแต่ประมาณ 300 ปีก่อนคริสตกาล มีอำนาจและอิทธิพลเพิ่มขึ้นอยู่ในอีก 400 ปีต่อมาโดยโรมันมีความเข้มแข็งทางการรบและได้ขยายอิทธิพลออกไปปกครองเขตต่างๆ ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน รวมทั้งตามชายฝั่งของยุโรปตะวันออกและตะวันตกเฉียงใต้ จนถึงแอฟริกาเหนือ   ซึ่งชุมชนต่างๆ ที่อยู่ภายใต้การปกครองของโรมันมีมากมายหลายกลุ่ม มีภาษา วัฒนธรรม ความเชื่อ และลักษณะของชุมชนที่เรียบง่ายไปจนถึงชุมชนที่มีความซับซ้อน โดยทั่วไปชุมชนทางด้านทะเลเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออกมีความเป็นอยู่ในลักษณะเมืองและมีการรวมกลุ่มสังคมที่ชัดเจนมากกว่าชุมชนที่อยู่ทางด้านเมดิเตอร์เรเนียนตะวันตก ความแตกต่างระหว่างตะวันตกกับตะวันออกเริ่มเห็นชัดขึ้นเรื่อยๆ ในระยะเวลาต่อมา ทำให้เริ่มเกิดแนวความคิดในการแบ่งการบริหารและการปกครองโรมันออกเป็นสองส่วน คือ ส่วนตะวันตกและส่วนตะวันออก นับตั้งแต่ค.ศ. 293 (พ.ศ. 836)โดยมีการแบ่งอำนาจ ความรับผิดชอบและหน้าที่ระหว่างผู้แทนต่างๆ ของจักรพรรดิโรมัน เพื่อปกครองเมืองและกลุ่มชนต่างๆ ทางด้านตะวันออก ตามหลักฐานทางประวัติศาตร์ จักรวรรดิโรมันตะวันออก (Eastern Roman Empire) หรือ ที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า อาณาจักรไบแเซนไทน์ (Byzantine Empire) กล่าวถึงการเริ่มต้นเมื่อจักรพรรดิคอนแสตนตินที่ 1 (Emperor Constantine I) ซึ่งครองราชย์ที่กรุงโรมระหว่างช่วง ค.ศ. 306 ถึง ค.ศ. 337 (พ.ศ. 849 – 880) ได้สถาปนากรุงคอนแสตนติโนเปิล (Constantinople – ปัจจุบันอยู่ในประเทศตรุกี) ให้เป็นจักรวรรดิโรมันใหม่ หรือโรมันตะวันออกขึ้นในปี ค.ศ. 330(พ.ศ. 873) และตั้งเมืองคอนแสตนติโนเปิลให้เป็นเมืองหลวงของจักรวรรดิโรมันตะวันออก  ในขณะที่เมืองหลวงของจักรวรรดิโรมันตะวันตกยังคงอยู่ที่โรม เมืองคอนแสตนติโนเปิลตั้งอยู่ในเขตที่เรียกว่าไบแซนเทียม (Byzantium) ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางการค้าที่สำคัญระหว่างตะวันตกกับตะวันออก จักรวรรดิโรมันตะวันออกมีลักษณะวัฒนธรรมที่ได้รับจากกรีก ทั้งการนับถือศาสนา คริสเตียนออโทดอกส์ (Christian Orthodox) และการใช้ภาษากรีกเป็นภาษาหลัก จึงแตกต่างจากจักรวรรดิโรมันตะวันตกที่ใช้ภาษาลาตินและนับถือคริสเตียนคาทอลิก (Christian Catholic) 
        จักรวรรดิโรมันตะวันออกมีการปกครองโดยจักรพรรดิหลายราชวงศ์ มีการขยายอาณาเขตและอิทธิพลทางด้านการปกครอง การทหาร เศรษฐกิจและการค้าไปอย่างกว้างขวาง ในขณะเดียวกัน ก็มีการทำสงครามกับกลุ่มชนอื่นๆ อยู่เสมอมา รวมทั้งในช่วงของการทำสงครามศาสนาระหว่างคริสเตียนกับมุสลิม หรือที่เรียกว่าสงครามครูเสด (Crusade Wars) ซึ่งเกิดขึ้นทั้งหมด 4 ครั้ง ในช่วง ค.ศ. 1069 (พ.ศ. 1612) จนถึงประมาณ ค.ศ. 1600 (พ.ศ. 2143) สงครามครูเสดเป็นสงครามที่คริสเตียนคาทอลิกพยายามยึดคืนสถานที่ศักดิ์สิทธิ์หรือเมืองต่างๆ เริ่มจากกรุงเยรูซาเล็มที่มุสลิมได้เข้ายึดครองในช่วงนั้น นอกจากนั้นแล้วสงครามครูเสดยังคงรวมถึงสงครามเพื่อการรณรงค์ความเชื่อและความศรัทธาในศาสนาคริสเตียน รวมถึงการต่อต้านความเชื่อในลัทธิอื่นหรือพวกนอกรีตที่นอกเหนือจากคริสเตียนอีกด้วย สงครามครูเสดมีอิทธิพลส่งถึงความเข้มแข็งของจักรวรรดิโรมันตะวันตก และมีผลทำให้จักรวรรดิโรมันตะวันออกเสื่อมลงไปเรื่อยๆ จนกระทั่งในที่สุดเมืองคอนแสตนติโนเปิลของจักรวรรดิโรมันตะวันออกต้องตกเป็นของออตโตมันเตอร์ก (Ottoman Turks) ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1453 (พ.ศ. 1996) อย่างสมบูรณ์
เมืองโมเนมวาเซีย
         โมเนมวาเซีย เป็นเมืองและเขตเทศบาลในเขตลาโคเนีย (Laconia) ซึ่งตั้งอยู่บนเกาะที่เล็กมากทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ที่ชายฝั่งตะวันออกของภูมิภาคเปโลโปนีส (Peloponnese) ของประเทศกรีซ อยู่ติดกับทะเลเอเจียน (Aegean Sea) เกาะโมเนมวาเซียเคยติดกับเขตแผ่นดินใหญ่ แต่ถูกแยกขาดออกเมื่อมีแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในปี ค.ศ. 375 (พ.ศ. 918) ดังนั้นในปัจจุบันการเดินทางจากเกาะไปยังแผ่นดินใหญ่ในบริเวณนั้น ต้องใช้สะพานเชื่อมที่มีความยาวประมาณ ๒๐๐ เมตร ซึ่งสะพานที่เห็นอยู่ในปัจจุบันสร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1971 (พ.ศ. 2514)           เกาะนี้มีลักษณะเป็นก้อนภูเขาหินหรือที่ราบสูงขนาดเล็กที่สูงประมาณ ๑๐๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล มีขนาดกว้าง 300 เมตร และยาว 108 กิโลเมตร คำว่า โมเนมวาเซีย มาจากภาษากรีก 2 คำ คือ โมน (Mone) แปลว่า หนึ่งเดียว และ เอมวาเซีย (Emvasia) แปลว่า ทางเข้า เมื่อรวมคำกันหมายถึง “ทางเข้าหนึ่งเดียว” (single entrance) นอกจากนี้ ด้วยเหตุที่โมเนมวาเซียมีลักษณะเป็นเหมือนก้อนหินที่คล้ายคลึงกับเกาะยิบรอลตา (Gibraltar) ของประเทศอังกฤษที่ตั้งอยู่ปลายคาบสมุทรของประเทศสเปน จึงมีการขนานนามโมเนมวาเซียว่า เป็น “ยิบรอลตาแห่งประเทศกรีซ (Gibraltar of Greece)”

         การเดินทางไปยังโมเนมวาเซียโดยรถยนตร์ เมื่อเริ่มต้นจากกรุงเอเธนส์ นครหลวงของประเทศกรีซ จะใช้เวลาประมาณ 5 ชั่วโมงกว่า โดยเส้นทางที่ใช้เดินทางจะผ่านภูเขาและเทือกเขาสูงตลอดข้างทางของภูมิภาคเปโลโปนีส มีเมืองอยู่หลายแห่งที่ตั้งอยู่บนที่ราบระหว่างภูเขาและเทือกเขาเหล่านี้ มีความสวยงามทางธรรมชาติอย่างมาก ในระหว่างทาง จะเห็นการปลูกต้นมะกอกกันอย่างกว้างขวางตามที่ราบและเชิงเขา ดังนั้น เขตเปโลโปนีสจึงมีผลผลิตของมะกอกและน้ำมันมะกอกมาก ในบางเขตมีการปลูกองุ่น มะเขือเทศ และพืชผักอย่างสมบูรณ์ทั่วไปตลอดเส้นทาง

        เกาะที่เป็นที่ตั้งของเมืองโมเนมวาเซียนี้มีความสวยงามทางธรรมชาติเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อได้รับแสงแดดกระทบในตอนกลางวัน จะเห็นหินสีเทาและสีชมพูอ่อนโดยทั่วไป จากหลักฐานทางโบราณคดี พบการเริ่มตั้งถิ่นฐานของโมเนมวาเซียตั้งแต่สมัยยุค นิโอลิติก (Neolithic) ประมาณ 6000 ปีก่อนคริสตกาล หลังจากนั้นมาในบริเวณแห่งนี้รวมทั้งในเขตแผ่นดินใกล้เคียง มีหลักฐานการอาศัยอยู่ของคนในสมัยยุคบรอนซ์ (Bronze Age) ในช่วงประมาณ 3000 ถึง 1100 ปีก่อนคริสตกาล และมีหลักฐานของกลุ่มชนชาวมีนวน (Minoan) และชาวไมซีเนียน ที่อาศัยในบริเวณนี้ในช่วงประมาณ 1600 ถึง 1100 ปีก่อนคริสตกาลอีกด้วย

       ป้อมปราการของเมืองโมเนมวาเซียที่ตั้งอยู่บนเกาะแห่งนี้เริ่มสร้างขึ้นเมื่อราว  ค.ศ. 583 (พ.ศ. 1126) โดยประชาชนที่หาที่หลบซ่อนจากการบุกรุกจากพวกที่มาจากกลุ่ม สลาวิค (Slavic) ซึ่งเป็นกลุ่มชนที่พูดภาษาอินโดยุโรเปียน (Indo-European) มาจากแถบยุโรปกลาง ยุโรปตะวันออก ยุโรปตะวันออกเฉียงใต้ เอเซียเหนือ และเอเซียตอนกลาง และกลุ่ม อวาริค (Avaric) ซึ่งเป็นกลุ่มชนที่อาศัยอยู่แถบเทือกเขาคอเคซัส (Caucasus) ระหว่างทะเลดำกับทะเลแคสเปียน ดังนั้น เมืองนี้มีจึงความสำคัญทางประวัติศาสตร์มาก โดยเป็นเมืองที่สร้างขึ้นในสมัยยุคกลาง (Medieval Period) ที่   ตัวเมืองมีเพียงแค่ป้อมปราการ ปราสาท โบสถ์ และเมืองเก่าที่สร้างขึ้นต่อเชื่อมกับป้อมปราการเท่านั้น ในสมัยศตวรรษที่ 10 เมืองนี้มีความสำคัญโดยเป็นศูนย์การค้าและการเดินเรือ ป้อมปราการที่ถูกสร้างขึ้นนั้นใช้ในการสู้รบและต่อต้านการบุกรุกของพวกอาหรับและพวกนอร์มัน โดยเฉพาะในช่วงปี ค.ศ. 1147 (พ.ศ. 1650) 

         โมเนมวาเซียมีความสำคัญในฐานะเป็นเมืองที่เข้มแข็งของอาณาจักรไบแซนไทน์ บางครั้งมีการเรียกเมืองนี้ว่าเป็น “เมืองสำหรับการเฝ้าระวังของอาณาจักรไบแซนไทน์ (Byzantine’s unsleeping watchdog)” ในปี ค.ศ. 1204 (พ.ศ. 1747) พวกครูเสดเข้ายึดเมืองคอนแสตนติโนเปิลหลังจากสงครามครูเสด และยกเลิกรัฐที่เป็นอาณาจักรไบแซนไทน์และเข้าปกครองในเขตนั้นทั้งหมด ในบริเวณของเปโลโปนีส มีการต่อต้านการยึดครองของพวกครูเสดอย่างมาก ต่อมาในปี ค.ศ. 1248 (พ.ศ. 1791) วิลเลียม ที่ 2 แห่งวิลเลอฮาดูอิน (William II of Villehardouin) ซึ่งเป็นอัศวินในสมัยยุคกลางได้เดินทางไปที่เกาะแห่งนี้และเข้ายึดเมืองโมเนมวาเซียได้โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทัพที่มาจากหลายเมือง อาทิ เอเธนส์ และ เมืองเวนิสจากประเทศอิตาลี

           ในปี ค.ศ. 1262 (พ.ศ. 1805) วิลเลียมที่ 2 แห่งวิลเลอฮาดูอิน ก็พ่ายแพ้ต่อการสู้รบกับอาณาจักรไบแซนไทน์ในเมืองโมเนมวาเซีย ต่อมาโมเนมวาเซียได้กลายเป็นเมืองที่มีความสำคัญทางด้านการทหารและการค้าขายของอาณาจักรไบแซนไทน์ในระยะเวลาอีกนานโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงศตวรรษที่ 13 และ 14 ถือว่าเป็นช่วงยุคทองของโมเนมวาเซียเลยทีเดียว  ในช่วงปี ค.ศ. 1419 ถึง ๑๔๓๑ (พ.ศ. 1962 – 1974) โมเนมวาเซียตกอยู่ภายใต้การปกครองของพวกเวนิเชียน (Venetian) จากอิตาลี ก่อนที่เมืองจะกลับไปเป็นอิสระขึ้นอยู่กับอาณาจักรไบแซนไทน์ในช่วง ค.ศ. 1431 ถึง 1460 (พ.ศ. 1974 – 2003) อย่างไรก็ตาม ในช่วงต่อๆ มา โมเนมวาเซียได้ถูกเปลี่ยนการยึดครองในระหว่างนี้โดยพวกเวนีเชียนกับอาณาจักรไบแซนไทน์อยู่เป็นระยะ จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1540 (พ.ศ. 2083) พวกออตโตมันเตอร์กได้เข้ายึดครองโมเนมวาเซีย เป็นต้นมา แม้ว่าจะมีบางช่วงที่ชาวเวนิเชียนสามารถยึดเมืองกลับไปได้บ้างเป็นระยะ โมเนมวาเซียเป็นอิสระจากการปกครองโดยออตโตมันเตอร์กในปีค.ศ. 1821 (พ.ศ. 2364) เมื่อประเทศกรีซเริ่มการปฏิวัติและเป็นเอกราชในที่สุด

          ในปัจจุบัน เมืองโมเนมวาเซียมีการสร้างเขตเมืองใหม่ขึ้นมา ซึ่งอยู่บนแผ่นดินใหญ่ที่สร้างบนที่ราบเชิงเขาที่อยู่ตรงข้ามกับเกาะอันเป็นที่ตั้งของโมเนมวาเซียในสมัยยุคไบแซนไทน์ โดยมีสะพานที่สร้างขึ้นเพื่อใช้การเดินทางเชื่อมระหว่างเขตเมืองเก่าที่อยู่บนเกาะกับเขตเมืองใหม่ ในเขตเมืองใหม่ เป็นที่อยู่อาศัยของประชาชนชาวโมเนมวาเซีย มีโรงแรม ร้านอาหาร ร้านขายของพื้นเมือง โรงเรียน และโบสถ์ใหม่ตั้งอยู่ มีท่าเรือจอดสำหรับเรือประมงและเรือโดยสารของผู้คนในเขตนั้นด้วยเช่นกัน         ส่วนเขตเมืองเก่าที่อยู่บนเกาะนั้น มีประตูเข้าเมืองที่ผู้คนใช้เดินทางผ่านเข้าออกได้ทางเดียว ในปัจจุบัน ผู้ที่ต้องการเดินทางเข้าไปในเขตเมืองเก่าโมเนมวาเซีย รวมถึงนักท่องเที่ยวต่างๆ ต้องเดินตั้งแต่ถนนด้านล่างของเกาะซึ่งอยู่ริมเกาะขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึงเนินสูงอันเป็นที่ตั้งของประตู   เมืองเก่า เมื่อเดินผ่านเข้าไปแล้ว จะเห็นถนนที่ใช้เดินเป็นถนนแคบๆ ไล่ขึ้นไปตามใหล่เขาของเกาะที่ปูลาดด้วยก้อนหินไปตลอดทาง มีบ้าน วิหาร ปราสาท  และโบสถ์ที่เคยเป็นที่อยู่ของอัศวินและนักรบในสมัยอาณาจักรไบแซนไทน์ ยังคงมีหลงเหลือให้เห็นอยู่ มีความเป็นเอกลักษณ์ของยุคนั้นอย่างชัดเจน ลักษณะโครงสร้างของเมืองเก่า แบ่งออกเป็นระดับล่าง และ ระดับบน โดยในระดับล่างมีหมู่บ้านที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน โบสถ์หลายแห่ง และกำแพงเมืองที่สร้างรอบบริเวณระดับล่างของเขตเมืองเก่า เมื่อเดินทางขึ้นไปจนถึงระดับบนของเขตเมือง ต้องเดินทางไปตามไหล่เขาบนทางเดินแคบๆ จะเห็นปราสาทที่สร้างขึ้นให้อัศวินและนักรบอยู่ ตลอดจนป้อมปราการที่สูงชัน    ในปัจจุบันนี้ เขตเมืองเก่าได้กลายเป็นโรงแรม ร้านอาหาร ร้านกาแฟ และร้านขายของที่ระลึกที่ตั้งอยู่ตลอดทางของถนนคนเดิน        ในสมัยที่เมืองโมเนมวาเซียเจริญรุ่งเรือง มีการสร้างโบสถ์ที่อยู่บนเกาะแห่งนี้ถึง 40 แห่ง  มีบาทหลวงและพระอาศัยอยู่ในโบสถ์เหล่านี้มากกว่า 400 คน ในปัจจุบันนี้ มีเพียงไม่กี่โบสถ์ที่ยังคงหลงเหลือให้เห็นอยู่ในสภาพที่ค่อนข้างสมบูรณ์และยังคงใช้เป็นที่สักการะและทำพิธีทางศาสนาของเมืองโมเนมวาเซียด้วย 
 

 

   

      

           เมืองมิสทราส
        มิสทราสเป็นเมืองไบแซนไทน์ที่สร้างขึ้นอยู่บนเขาเทกีโตส (Mount Tygetos) อยู่ห่างจากเมืองสปาร์ติ (Sparti) ประมาณ 6 กิโลเมตร เมืองสปาร์ตินี้เคยเป็นที่อยู่ของนักรบสปาร์ตาน (Spartan) ในยุคกรีกโบราณประมาณ 1000 ปีก่อนคริสตกาล และนับตั้งแต่ประมาณ 650 ปีก่อนคริสตกาล พวกสปาร์ตานได้กลายเป็นกลุ่มนักรบที่มีความเก่งและเข้มแข็งอย่างยิ่งในยุคกรีกโบราณ การเดินทางไปยังเมืองมิสทราสต้องผ่านเข้าเมืองสปาร์ติ ซึ่งในปัจจุบันเป็นเขตที่อยู่อาศัยอย่างหนาแน่น เมื่อเข้าไปถึงเขตเมืองมิสทราส จะมองเห็นเมืองทั้งเมืองที่ตั้งอยู่บนเขาสูงแห่งนี้ สวยงามอย่างมาก
        จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี การตั้งถิ่นฐานที่มิสทราสเริ่มต้นจากปี   ค.ศ. 1249 (พ.ศ. 1792) เมื่ออัศวินวิลเลียมที่ 2 แห่งวิลเลอฮาดูอินเข้ายึดเมืองโมเนมวาเซียได้ หลังจากนั้นวิลเลียมที่ 2 ได้ขยายเขตการปกครองออกไปจนถึงภูเขาเทกีโตส เมื่อเขาเห็นภูเขาแห่งนี้ จึงได้เริ่มสร้างปราสาทและป้อมปราการขึ้นเพื่อใช้เป็นที่อยู่ ตลอดจนเป็นที่ตั้งบัญชาการรบและการป้องกันทางทหาร เนื่องจากอยู่บนเขาสูงอันเป็นยุทธศาสตร์ที่ดีอย่างยิ่ง มิสทราสเป็นเมืองหลวงของอาณาเขตโมเรีย (Morea) ซึ่งเป็นส่วนของอาณาจักรไบแซนไทน์ในช่วงศตวรรษที่ 14 และ 15 และแม้ว่าจะต้องเผชิญกับการสู้รบและการต่อต้านพวกที่บุกรุกอยู่เป็นระยะโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากพวกเวนิเชียนและพวกเตอร์ก  แต่มิสทราสกลับมีความรุ่งเรืองทั้งในด้านการค้าขายและการเกษตรกรรมโดยเฉพาะการเพาะปลูกดอกไม้ป่าชนิดต่างๆ นอกจากนั้นแล้ว มิสทราสยังมีความสำคัญในด้านการเมือง การทหาร และศูนย์การเล่าเรียน ส่วนปราสาทที่สร้างขึ้นในสมัยวิลเลียมที่ 2 ก็ใช้เป็นที่อยู่อาศัยของจักรพรรดิหลายพระองค์ของอาณาจักรไบแซนไทน์ต่อมาอีกด้วย จักรพรรดิองค์สุดท้ายของไบแซนไทน์คือ คอนแสตนติน ที่ 11 แห่งปาลาอิโอโลกอส (Constantine XI Palaiologos) ได้เป็นผู้บริหารที่ปกครองที่มิสทราสก่อนที่จะขึ้นเป็นจักรพรรดิ ในกลางเมืองของมิสทราสทางตอนล่าง มีรูปปั้นของจักรพรรดิคอนแสตนตินตั้งอยู่ด้วย
       เมื่อปี ค.ศ. 1460 (พ.ศ. 2003) เมืองมิสทราสยอมจำนนต่อพวกออตโตมันเตอร์กในสมัยจักรพรรดิเมฮาเมด ที่ 2 (Mehmed II) ในช่วงที่ออตโตมันเตอร์กปกครอง เมืองมิสทราสก็ยัง  คงมีผู้อาศัยอยู่ตลอด อาณาจักรออตโตมันได้ปกครองเมืองมิสทราสอยู่จนถึงปี ค.ศ. 1821 (พ.ศ. 2364) ซึ่งเป็นปีที่กรีซเริ่มการปฏิวัติจากออตโตมันและเป็นเอกราชในปีนั้น แม้ว่าในระหว่างที่ออตโตมันเตอร์กปกครอง พวกเวนีเชียนได้เข้ายึดมิสทราสได้ในระยะสั้นระหว่างปี ค.ศ. 1687  ถึง 1715 (พ.ศ. 2230 – 2258) และเมื่อประมาณปี ค.ศ. 1830 ผู้คนที่อาศัยอยู่ที่เมืองมิสทราสบนเขาแห่งนี้ได้อพยพลงจากเขาและไปอาศัยอยู่ในเขตเมืองใหม่ที่สร้างขึ้นในเมืองสปาร์ติ การเดินทางไปที่มิสทราสซึ่งตั้งอยู่บนเขานั้น ในปัจจุบันใช้รถยนตร์ขึ้นไปตามเส้นทางถนนที่สร้างขึ้นในภายหลัง เมื่อขึ้นไปถึงบนจุดสูงสุดของเขาที่สามารถนำรถไปจอดได้ จะเห็นทิวทัศน์และทัศนียภาพของเมืองสปาร์ติและเมืองเล็กๆ ที่อยู่บริเวณที่ราบของภูเขาได้ สวยงามและ ดูสงบอย่างยิ่ง

           หลังจากนั้น การเดินทางขึ้นไปยังปราสาท ป้อมปราการและพระราชวังที่ใช้เป็นที่อยู่ของจักรพรรดิในสมัยนั้น สามารถทำได้โดยการใช้เส้นทางถนนหินกรวดเล็กๆ ที่มีลักษณะเป็นขั้นบันไดและคดเคี้ยวไปตามเขาที่สร้างขึ้นตั้งแต่ยุคไบแซนไทน์ ใช้เวลาในการเดินจากเนินเขาถึงยอดสุดประมาณ 20 นาทีหรือมากกว่านั้น แม้จะเป็นการเดินทางขึ้นเขา แต่ขั้นบันไดหรือถนนเป็นลักษณะทางลาดเป็นระดับ ไม่ชันมากนัก ตลอดเส้นทางจะผ่านโบสถ์เก่าหลายแห่งที่สร้างขึ้นเพื่อใช้ประกอบพิธีศาสนาสำหรับจักรพรรดิและนักรบในสมัยนั้น เมื่อขึ้นไปถึงบนสุดของปราสาท จะเห็นซากกำแพงของป้อมปราการและปราสาทที่หลงเหลืออยู่ให้เห็นในปัจจุบัน และสามารถมองเห็นพระราชวังของจักรพรรดิที่สร้างอยู่ในระดับกลางภูเขาได้อย่างชัดเจน ขณะนี้กำลังมีการปรับปรุงซ่อมแซมพระราชวังให้มีสภาพที่ดีขึ้น นอกจากนั้นยังคงมีส่วนที่เคยเป็นที่เก็บน้ำที่เอาไว้ใช้ในสมัยนั้นอยู่ด้วย  ภายในโบสถ์เก่าหลายแห่งที่สามารถเข้าไปดูได้ จะเห็นภาพวาดฝาผนังที่เกี่ยวกับศาสนาตามมุมต่างๆ ของโบสถ์เหล่านี้อีกด้วย
          เนื่องจากที่เมืองมิสทราสเป็นที่ตั้งของป้อมปราการ ปราสาท พระราชวัง โบสถ์และ ศาสนสถานต่างๆ นับแต่ยุคไบแซนไทน์ที่ยังคงมีหลงเหลือให้เห็นอยู่ ประกอบกับความสำคัญของเมืองมิสทราสในสมัยอาณาจักรไบแซนไทน์ องค์การยูเนสโก (UNESCO) จึงได้ขึ้นทะเบียนให้มิสทราสเป็นมรดกโลกในปี ค.ศ. 1989 (พ.ศ. 2532) ผู้ที่ได้มีโอกาสเดินทางไปประเทศกรีซและไปในเขตของภูมิภาคเปโลโปนีส ไม่ควรพลาดที่จะไปเที่ยวที่เมืองโมเนมวาเซียและเมืองมิสทราส ซึ่งเป็นเมืองโบราณของประเทศกรีซที่มีความสำคัญและมีบทบาทอย่างมากในยุคโรมันตะวันออกหรือยุคอาณาจักรไบแซนไทน์

จำนวนผู้อ่านบทความ  Must See Places In Paris