บทความยาหอม หมอหวาน

               ศรีพงศ์  บุนนาค : เขียนและสัมภาษณ์
 
หิรัญ สุวรรณเทศ : ถ่ายภาพ  

ในช่วงวันหยุดวันหนึ่ง  ผมได้ไปเดินเที่ยวในพระนคร ใจกลางของกรุงเทพมหานคร  ด้วยอยากเปลี่ยนบรรยากาศในการพักผ่อนบ้าง  ได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมสถานที่ต่าง ๆ ทั้งที่เคยไปแล้วและยังไม่เคยไปเดินเลาะไป เลาะมา ไปเรื่อย ๆ จนถึงเสาชิงช้า แม้ว่าเคยมาแล้ว แต่ไม่ได้เยี่ยมชมครบทุกจุด  เลยตัดสินใจลองเดินสำรวจรอบ ๆ  ปรากฏว่าไปเจอบ้านหลังหนึ่งในซอยที่ไม่ลึกมากนัก เห็นได้ทันทีว่ามีความโดดเด่นกว่าตึกอื่น ๆ  สถาปัตยกรรมมีความเป็นยุโรป เมื่อเข้าไปดูใกล้ ๆ พบว่าตึกดังกล่าวคือ ร้านขายยา เพราะเห็นขวดยาประดับอยู่หน้าร้าน  และป้ายร้านชื่อ “บำรุงชาติสาสนายาไทย” แต่ไม่รู้ว่าคือ ยาอะไร จึงลองเดินเข้าไปในร้านและได้พบกับกับคุณภาสินี  ญาโณทัย เจ้าของร้าน  ซึ่งได้อธิบายให้ผมฟังคร่าว ๆ เกี่ยวกับที่มา ที่ไปของร้าน ทำให้ผมเข้าใจว่าสินค้าของร้านนี้คือ ยาหอม  ยาที่ถูกกำหนดให้เป็น ยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณ สามารถจำหน่ายได้ทุกสถานที่ หมอแผนโบราณใช้รักษาอาการไข้ บำรุงหัวใจ  บำรุงครรภ์ แก้ลมวิงเวียน

หลังที่ได้ฟังเรื่องราวสั้น ๆ จึงค้นพบว่ายาหอมมีประวัติยาวนาน  สามารถอยู่รอดและรักษาความดั้งเดิมมาได้จนวันนี้  ผมจึงกลับไปค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมและขอสัมภาษณ์คุณภาสินีฯ อย่างเป็นทางการ ในสัปดาห์ถัดมาซึ่งข้อมูลที่รวบรวมมานั้น มีประโยชน์อย่างยิ่งยาหอมและยาโบราณนั้น มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน ไม่มีใครสามารถบอกได้ว่ามีมาตั้งแต่ยุคใด แต่ต้นกำเนิดของร้านบำรุงชาติสาสนาเริ่มต้นในปี พ.ศ. 2467 สมัยปลายรัชกาลที่ 6 ช่วงที่มีการประกาศใช้มาตรา 11 ซึ่งระบุว่าการแพทย์และยาของไทยต้องมีมาตรฐานตามสากล ยาโบราณและยาหอมจึงไม่ใช่ยามาตรฐานสากล  หมอยาหลายท่านเชื่อว่า การทำยาโบราณและยาหอม เป็นวิถีชีวิตที่ไม่มั่นคง จึงทอดทิ้งความรู้ โดยทำลายตำรายา ถึงแม้ว่าสถานการณ์ในช่วงนั้นเป็นช่วงที่ตกต่ำ ของยาโบราณและยาหอม นายหวาน รอดม่วง หรือหมอหวาน แพทย์แผนโบราณ มีความมุ่งมั่นและเจตนารมณ์ในการรักษา ยาหอมให้อยู่รอดในยุคนั้น เพราะถือว่ายาหอมเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นไทย จึงมีการปรับปรุงร้านให้เป็นทั้งร้านขายยาหอมและศูนย์รักษา (Clinic)เปลี่ยนสถาปัตยกรรมของตัวอาคารให้เป็นแบบแบบโคโลเนียลเพื่อให้เข้ากับความนิยมในสมัยนั้น และปรับปรุงผลิตพันธ์ใหม่ รวมทั้ง เปลี่ยนชื่อร้านเป็น “บำรุงชาติสาสนายาไทย”  สื่อถึงการรักษาเอกลักษณ์และความหมายของชาติ  ศาสนาและพระมหากษัตริย์ไปในคราวเดียวกันในสมัยนั้น  ยาหอมเป็นสินค้าของกลุ่มคนชั้นสูงและเจ้านายในวัง  จึงถือว่าเป็นสินค้าที่หรูหรา (Luxury goods) เพราะวิธีการทำมีขั้นตอนที่ยาก อาศัยแรงงาน ความเชี่ยวชาญและต้องใช้เครื่องมือที่หายาก ยาจึงมีราคาสูง แต่ในที่สุดประชาชนทั่วไปสามารถซื้อสินค้าเหล่านี้ได้เช่นเดียวกัน  ยุคที่ตกต่ำจึงกลาย เป็นยุคทองของยาหอม  เพราะทุกบ้านมียาหอม สำนวน “โปรยยาหอม” จึงกำเนิดขึ้น เป็นสำนวนเรียบง่าย ที่คนไทยใช้กล่าวถึงคำพูดอันไพเราะยามสนทนา ทั้งนี้เพราะยาหอมเป็นตัวแทนของความชื่นอกชื่นใจเคียงข้างคนไทยมาช้านาน  ความนิยมและคุณค่าของยาหอมเดินทางร่วมกับการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย มาโดยตลอด คล้ายดังลมหายใจที่ไม่สามารถแยกออกจากชีวิตคนไทยตั้งแต่แรกเกิดจนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต
ปัจจุบัน คนมีทัศนคติต่อยาหอมแตกต่างกันไป บางคนเชื่อว่ายาหอมสามารถรักษาได้ทุกโรค อันที่จริงข้อดีของยาหอมคือ เป็นยาบำรุงสุขภาพ  สามารถใช้ได้ทุกเมื่อไม่จำเป็นต้องเจ็บไข้ได้ป่วยก่อน เนื่องจากยาหอมมีมานาน ความนิยมจึงลดลงตามการเปลี่ยนแปลงของสังคม คนรุ่นใหม่จึงเข้าใจว่ามีแต่ผู้สูงอายุที่ใช้ยาหอม อันเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน

ช่วงหนึ่ง คุณภาสินีฯ และครอบครัวได้ปรึกษาหารือเรื่องการปิดกิจการร้าน เพราะเหตุผลหลายข้อ แต่ได้ข้อสรุปว่าครอบครัวจะเปิดร้านต่อไป โดยมีลูกค้าเฉพาะกลุ่ม เพราะเหตุนี้ ครอบครัวจึงต้องปรับตัวให้เหมาะสมกับยุคปัจจุบัน คุณภาสินีฯ อธิบายต่อว่า ความตั้งใจที่จะปรับปรุงร้านเป็นสิ่งที่ไม่ยาก แต่คำถามคือจะต้องปรับตัวอย่างไรจึงจะมีประสิทธิภาพ การหาคำตอบนั้น ต้องอาศัยการวิจัยและค้นคว้าข้อมูลใน ๓ หัวข้อ คือ เข้าใจสรรพคุณของยา ซึ่งอาศัยการค้นคว้าข้อมูลที่มีอยู่ เช่น เปิดค้นตำรายาโบราณ  หรือผลิตยาที่เคยผลิตมาแล้ว ต้องแก้ปัญหาโดยการไปเก็บข้อมูลอย่างจริงจังและลึกซึ้งโดยไปถาม ความคิดเห็นจากกลุ่มอายุต่าง ๆ เกี่ยวกับยาหอม และนำข้อมูลนี้มาใช้ เพื่อพัฒนายาให้ตรงกับความต้องการ โดยต้องพัฒนาในด้านต่าง ๆ นับแต่วิธีการผลิตยา  โดยการค้นคว้าหาวิธีใหม่ ๆ  ในการผลิตยาให้มีประสิทธิภาพและง่ายต่อการบริโภค คุณภาสินีฯ อธิบายว่าการขายยาเป็นสิ่งที่ยาก เพราะสังคมถูกปลูกฝัง มาว่า ยามีรสชาติที่ไม่อร่อยและใช้เฉพาะตอนที่ป่วยเท่านั้น นอกจากนี้ ความเชื่อถือของยาหอมก็ลงน้อยลง  เมื่อเทียบกับการแพทย์สมัยใหม่ ต้องพัฒนา  Branding ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน เนื่องจาก Branding ไม่เป็นเพียงการนําเสนอสินค้า แต่เป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างผลิตภัณฑ์ และผู้บริโภคด้วย  คุณค่าที่ผู้บริโภคให้ความไว้วางใจ  จงรักภักดี และคาดหวังได้ ทั้งด้านอรรถประโยชน์ อารมณ์ และความรู้สึก ช่วยลดระยะเวลาในการตัดสินใจ ซื้อจากตัวเลือกที่มีอยู่ในตลาดมากมาย แต่สำหรับครอบครัว จุดประสงค์หลักของ Branding คือการสื่อสารที่ดีกับผู้บริโภคเป็นหลัก ตัวอย่างที่ชัดเจนในการนำ Branding และวิธีการผลิตยายุคใหม่มาใช้ร่วมกันคือ “ลูกอมชื่นจิตต์”  ซึ่งเป็นยาหอมที่ถูกดัดแปลงให้เป็นลูกอม  สรรพคุณของลูกอมคือช่วยย่อย  แก้ท้องอืดเฟ้อ ให้ความสดชื่น และขับลมในเส้นใช้เมื่อมีอาการท้องอืดเฟ้อหรือก่อนนวด เมื่อต้อง การให้ลมในเส้นเดินสะดวกขึ้น หรือเมื่อต้องการความสดชื่น  ซึ่งมีคำโฆษณาว่า “ชื่นจิตต์ ยาอม กินง่าย” ทั้งหมดนี้ ช่วยสร้างความไว้วางใจในสินค้า เพราะเหตุนี้ลูกอมจึงได้รับการสนับสนุนและคัดเลือกให้เป็นหนึ่ง ในสิบของนวัตกรรมสมุนไพร จากโครงการพัฒนามาตรฐานและศักยภาพธุรกิจ สปาไทย สถาบันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กระทรวงอุตสาหกรรม


นอกจากการหาและคัดเลือกผลิตภัณฑ์สมุนไพรแล้ว การผลิตยาต้องอาศัยความชำนาญและประสบการณ์อีกด้วย  ก่อนทำงานที่บำรุงชาติสาสนายาไทย ผู้ผลิตยาต้องมีพื้นฐานการปรุงยามาก่อน อาทิ หลายคนเคยเข้าฝึกอบรมที่โรงเรียนแพทย์แผนโบราณวัดโพธิ์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีการจัดตั้งโรงเรียนแพทย์แผนโบราณแห่งแรก

สำหรับคุณภาสินีฯ  การจัดการธุรกิจของร้านไม่มีกฎตายตัว แต่ทางร้านพยายามที่จะศึกษาเรื่องนี้อย่างละเอียดถี่ถ้วน  แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนในแง่ธุรกิจคือการเพิ่มชนิดของสินค้าโดยค้นคว้าตำรายาเก่าและศึกษาเพิ่มเติมถึงความเป็นไปได้ว่ายาเหมาะสมหรือไม่สำหรับยุคปัจจุบัน นอกจากการขายยาแล้วตัวร้านเองก็เป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจเช่นเดียวกัน โดยตึกมีความสวยงามและมีประวัติที่น่าสนใจ ร้านจึงกลายเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวและพิพิธภัณฑ์ที่สำคัญในพระนคร ย่านเสาชิงช้า

“บำรุงชาติสาสนายาไทย" หรือ "บ้านหมอหวาน"  อาคารเก่าแก่สไตล์โคโลเนียล จวบจนปัจจุบัน บ้านหลังนี้ได้ตกทอดสู่ทายาทรุ่นเหลน และยังคงทำหน้าที่เป็นทั้งบ้านและสถานที่ปรุงยาแผนโบราณของหมอหวาน สืบต่อกันมากว่า 4 ชั่วอายุคน โดยภายในตัวอาคารยังคงเต็มไปด้วยโบราณวัตถุนานาชนิด อาทิ ขวดแก้วสำหรับเก็บยา บางขวดยังมียาหลงเหลืออยู่ก้นขวด  มีฉลากเขียนด้วยลายมือที่ดั้งเดิมและยังอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์  อีกทั้งฉลากถูกเคลือบอยู่ด้านในขวด ซึ่งมีการตั้งข้อสงสัยว่า  คนสมัยก่อนใช้วิธีการใดถึงเป็นเช่นนั้น นอกจากร้านได้ผ่านยุคสมัยรัชกาลที่ ๖ บำรุงชาติสาสนายาไทยมีหลักฐานว่าได้มีโอกาสรักษาบุคคลสำคัญในยุคนั้นอีกด้วย หนึ่งในนั้น คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ เมื่อหมอหวานถวาย ยาหอมให้กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ  ท่านตอบแทนโดยให้กล่องเก็บของพร้อมข้อความสลักบนฝาไม้เป็นของที่ระลึกแก่หมอหวาน ซึ่งกล่องนี้ยังอยู่ที่ร้านในสภาพที่สมบูรณ์  กล่องดังกล่าวมีความสำคัญต่อร้าน เพราะถือว่าเป็นสมบัติสร้างความภาคภูมิใจให้แก่ครอบครัว อีกทั้งกล่องจุดประกายความคิดในการเปลี่ยนรูปแบบของสินค้าอีกด้วย โดยที่ร้านได้นำรูปแบบของกล่องดังกล่าวมาใช้เป็นตัวอย่างสำหรับภาชนะใส่ยาหอม  ซึ่งทำให้สินค้าดูสวยงามและมีมูลค่า นอกจากนี้ การบรรจุยาลักษณะนี้สื่อความหรูหราและให้ความรู้สึกเหมือนย้อนไปในยุคก่อน การบอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาในอดีต  ตลอดจนยาหอมโบราณ กว่าร้อยปีทั้ง ๔ ตำรับของหมอหวาน  สื่อให้เห็นถึงความนิยมของคนต่อยาหอมในอดีต และให้เห็นว่ากรรมวิธีและกระบวนการผลิต ยังใช้วิธีเดิมด้วยเครื่องมือโบราณที่ใช้ในการปรุงยาขายให้กับลูกค้าเก่าแก่มากว่า 100 ปี บำรุงชาติสาสนายาไทยมีบทบาทสำคัญในการรักษาวัฒนธรรมไทย และสามารถอธิบายชีวิตความเป็นอยู่ในช่วงสมัย รัชกาลที่ 6 ในมิติของยาโบราณได้อย่างลึกซึ้ง

เป้าหมายหลักของร้านคือการทำให้คนเห็นคุณค่าของยา สร้างความมั่นใจเพื่อให้คนเปิดใจยอมรับ และสร้างความภาคภูมิใจในยาหอม ให้สมกับชื่อ บำรุงชาติสาสนายาไทย  ดังนั้น  ร้านจึงต้องอยู่รอดต่อไป เพราะเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทย
สำหรับผมแล้ว การที่ได้พูดคุยกับฟังคุณภาสินีฯ  ร้านบำรุงชาติสาสนายาไทยไม่ใช่แค่ร้านขายยาหอมเท่านั้น แต่เป็นสถานที่ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ สื่อให้เห็นถึงวิวัฒนาการของสังคมในยุครัชกาลที่ 5 -6 และเป็นตัวอย่างให้เห็นว่าประเทศไทยไม่ว่าจะยุคไหนก็ตาม สามารถปรับตัวท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของโลก อีกทั้ง สามารถรักษาความเป็นไทยให้อยู่คงเดิมตามชื่อของร้าน “บำรุง ชาติ และศาสนา” ได้อย่างยั่งยืน ท่านผู้อ่านสามารถรับชมวีดีโอคลิปบทสัมภาษณ์เพิ่มเติมได้ที่  : ยาหอมบ้านหมอหวาน
 
จำนวนผู้อ่านบทความ  Must See Places In Paris