วรอช-วาฟ (Wroclaw)


 

 บทความและภาพถ่ายโดย สุภาศิริ  อมาตยกุล

       วรอช-วาฟ (Wroclaw) เป็นอีกเมืองหนึ่งของโปแลนด์ที่สวยงาม มีความเป็นเอกลักษณ์ และเต็มไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม วรอช-วาฟเป็นเมืองในแคว้นซีเลเซีย (Silesia) ที่อยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของโปแลนด์ แคว้นซีเลเซียอยู่ติดกับชายแดนประเทศสาธารณรัฐเชก (Czech Republic) แบ่งเป็นซีเลเซียตอนบน (Upper Silesia) และซีเลเซียตอนล่าง (Lower Silesia)

       ภูมิประเทศของแคว้นซิเลเซียงดงามด้วยธรรมชาติที่หลากหลาย มีเทือกเขาซูเดตี้ (Sudety) เป็นแนวเขตชายแดนติดกับประเทศเชก ภูเขาที่สูงที่สุดของเทือกเขาซูเดตี้ ชื่อ การ์โกโนสเซ (Karkonosze) ซึ่งมีอุทยานธรรมชาติ (Karkonosze National Park) ที่อยู่ตอนบนของภูเขาดังกล่าวได้รับการยอมรับจากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ให้เป็นแหล่งอนุรักษ์ระบบนิเวศน์ (UNESCO : World Biosphere Reserve)   ซีเลเซียเคยเป็นแคว้นที่มีวัฒนธรรมรุ่งเรืองมากนับตั้งแต่ศตวรรษที่ 10 ปัจจุบันยังคงเห็นความโดดเด่นทางด้านสถาปัตยกรรมของบ้านเมืองรวมทั้งปราสาท ราชวัง คฤหาสถ์ ป้อมปราการ   และสถานที่สำคัญทางศาสนา
       สำหรับเมืองวรอช-วาฟนั้น เป็นเมืองหลวงของซีเลเซียตอนล่าง ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโอดรา (Odra River)  มีประชากร 632,240 คน (ข้อมูลเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2009) นับเป็นเมืองใหญ่อันดับ 4 ของโปแลนด์
       กล่าวกันว่าชนเผ่าซลาวิก ซเลซา  (Slavic Sleza) ได้มาตั้งถิ่นฐานในบริเวณที่ปัจจุบันเป็นแคว้นซิเลเซีย ตั้งแต่ศตวรรษที่ 8 และมีบันทึกว่าเมืองวรอช-วาฟสร้างโดยดยุคจากเชก ชื่อ วราติสเลา ที่ 1 แห่งโบฮีเมีย (/Duke Vratislaus I of Bohemia) เมื่อต้นศตวรรษที่ 10 ซึ่งเชื่อกันว่าอาจเป็นที่มาของชื่อเมืองวรอช-วาฟ จุดแรกที่สร้างเมืองคือบริเวณออสตรุฟ ตุมสกี (Ostrow Tumski) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นป้อมปราการป้องกันชายแดน   ของตน วรอช-วาฟเป็นที่มั่นของอาณาจักรโบฮีเมียที่อยู่ระหว่างทางหลวงที่กษัตริย์ในยุโรปใช้เป็นเส้นทางการเดินทาง (Via Regia) กับเส้นทางการค้าอำพัน (Amber Road)
       ระหว่างปีค.ศ. 1000-1335 วรอช-วาฟเป็นเมืองหลวงของซิเลเซียภายใต้กษัตริย์แห่งราชวงศ์เปียร์ส (Piast) ซึ่งเป็นราชวงศ์แรกของโปแลนด์ และตั้งแต่ปีค.ศ. 1000 วรอช-วาฟยังเป็นที่ตั้งของสังฆราชหรือหัวหน้าสังฆมณฑล (seat of the Bishop) ด้วย ทำให้วรอช-วาฟเป็นเมืองหนึ่งที่มีความสำคัญยิ่งในขณะนั้น
       วรอช-วาฟถูกกลับไปอยู่ใต้การปกครองของเชกอีกในปีค.ศ. 1335 จนถึงค.ศ. 1526 เมื่อรัฐเชกทั้งหมดถูกรวมเข้ากับอาณาจักรฮับส์บวร์ก (Habsburg Empire) ของออสเตรีย ทำให้วรอช-วาฟกลายเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรฮับส์บวร์กไปด้วย (ค.ศ. 1526-1741) ต่อมาวรอช-วาฟถูกย้ายไปอยู่ภายใต้การดูแลของกษัตริย์เฟรเดอริกมหาราช (Frederick the Great) แห่งปรัสเซีย ระหว่างปีค.ศ. 1741-1871 ช่วงนั้นวรอช-วาฟถูกเรียกว่า      เบรสเลา (Breslau) เมืองวรอช-วาฟยังคงเป็นเมืองของเยอรมันระหว่างปีค.ศ.1871-1945  หลังสงครามโลกครั้ง   ที่ 2 ในปีค.ศ. 1945 วรอช-วาฟจึงกลับมาอยู่ในโปแลนด์มาจนถึงปัจจุบัน          

 
        วรอช-วาฟเคยรุ่งเรืองมาก แต่ถูกผลกระทบเสียหายอย่างหนักจากสงครามต่างๆ โดยเฉพาะสงคราม 30 ปี (Thirty Years’ War) ซึ่งเป็นสงครามศาสนาระหว่างแคธอลิคกับโปรเตสแตนที่เกิดขึ้นในยุโรประหว่าง  ปีค.ศ. 1618-1648 โดยดินแดนของเยอรมันที่เป็นสนามรบอยู่ 30 ปีประสบความพินาศในเกือบทุกด้าน
        ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพเยอรมันตั้งกองบัญชาการอยู่ที่วรอช-วาฟด้วย ทำให้เกิดความเสียหายและบ้านเมืองถูกทำลายจากการสู้รบ หลังสงครามจึงได้มีการบูรณะและสร้างเมืองขึ้นให้กลับมาอยู่ ในสภาพเดิมก่อนสงคราม นอกจากนี้ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้มีการโยกย้ายพลเมืองชาวเยอรมันออกจาก วรอช-วาฟ และให้ประชาชนจากทางตะวันออกในเขตลวูฟ (Lwow – ปัจจุบันอยู่ในประเทศยูเครน) อพยพ เข้ามาอยู่มาแทนเป็นจำนวนนับหมื่นคน พวกเขาได้นำทรัพย์สมบัติและสิ่งที่เป็นอนุสรณ์ต่างๆ กลับมาที่ วรอช-วาฟด้วย เช่นรูปปั้นนักกวีชาวโปแลนด์ หนังสือและเอกสารทางประวัติศาสตร์ ภาพวาดสำคัญๆ เป็นต้น
        จากการที่วรอช-วาฟถูกเปลี่ยนมือไปอยู่ภายใต้การปกครองของหลายอาณาจักรในยุโรป ทำให้ วรอช-วาฟมีวัฒนธรรมที่ผสมผสานและหลากหลาย นับเป็นเอกลักษณ์หนึ่งที่โดดเด่นของวรอช-วาฟ ดังเห็นได้จากงานด้านศิลปะ สถาปัตยกรรม ประติมากรรม และวัฒนธรรมท้องถิ่นต่างๆ 
 

 

 

                                              
 สถานที่สำคัญของวรอช-วาฟ
              วรอช-วาฟได้รับฉายาว่าเป็น “เวนีสของโปแลนด์”  เพราะสร้างอยู่บนพื้นแผ่นดินที่เป็นเกาะทั้งหมด12 เกาะ มีแม่น้ำและคลองล้อมรอบเชื่อมต่อกันโดยสะพานรวม 127 สะพาน นับว่าเป็นเมืองที่มีสะพานมากที่สุดแห่งหนี่งของยุโรปรองจากเมืองเวนิสในอิตาลี เมืองอัมสเตอร์ดัมในเนเธอร์แลนด์ และเมืองเซนต์ปีเตอร์เบอร์กในรัสเซีย สะพานเก่าแก่ที่สุดของวรอช-วาฟคือ สะพานเปียเสก (Piasek Island Bridge)  สร้างปีค.ศ. 1845  ส่วนสะพานที่มีชื่อเสียงมากคือ กรุนด์วอล์ดสกี (Grundwaldzski) เป็นสะพานแขวนที่ยาวที่สุดแห่งหนึ่งของโปแลนด์ สร้างเสร็จในปีค.ศ.1910 มีชื่อเดิมว่า สะพานอิมพีเรียล (Imperial Bridge)
              สถานที่สำคัญๆ ในเมืองวรอช-วาฟมีหลายแห่ง ได้แก่

จตุรัสการค้า (Market Square) จากยุคกลาง (ศตวรรษที่ 13) โปแลนด์เรียกว่า ไรเนค (Rynek)  เป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด 212 X 175 ตารางเมตร ยิ่งใหญ่เป็นอันดับสองของโปแลนด์รองจากเมืองคราคูฟ (Krakow)  จตุรัสการค้านี้ถือเป็นศูนย์กลางทางการเมือง สังคม และวัฒนธรรมของวรอช-วาฟ ใจกลางจตุรัสการค้ามีศาลาเมืองรูปทรงกอธิค (Gothic) ที่เด่นเป็นสง่า ส่วนบริเวณโดยรอบจตุรัสเป็นบ้านเรือนรูปทรงศิลปะและสถาปัตยกรรมจากยุคเรอเนซองส์ (Renaissance – ศตวรรษที่ 14-15) จนถึงศตวรรษที่ 20 แม้ว่าเมืองทั้งหมดได้ถูกทำลายลงในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่เมื่อมีการสร้างเมืองใหม่กลับขึ้นมาก็ยังคงเอกลักษณ์และรูปแบบของศิลปะดังกล่าว มีอาคารบางแห่งยังรักษาของเก่าดั้งเดิมไว้ได้เพราะไม่ได้ถูกทำลายในสงคราม
             ทางด้านตะวันตกของจตุรัสการค้าเคยมีตลาดค้าขายขนสัตว์ (Wool Market) ซึ่งเป็นสินค้ามีค่าที่ทำการค้าขายกันมาตั้งแต่ยุคกลางจนถึงปีค.ศ. 1905

จตุรัสเกลือ (Salt Square)  อยู่ติดกับจตุรัสการค้า แต่มีขนาดเล็กกว่า คือ 100 X 90 ตารางเมตร สมัยก่อนเป็นที่ซื้อขายแลกเปลี่ยน “เกลือ” ซึ่งถือเป็นสินค้าที่มีค่าอย่างมาก นอกจากนี้ยังมีการค้าขายน้ำผึ้ง เครื่องหนัง เชือก และเนื้อแพะด้วย เคยเรียกจตุรัสนี้กันว่า จตุรัสโปแลนด์ (Polish Square) เนื่องจากพ่อค้าส่วนใหญ่เป็น    ชาวโปแลนด์ ปัจจุบันจตุรัสบริเวณนี้มีซุ้มขายดอกไม้นานาชนิดเรียงรายกันอยู่

ศาลาเมือง (Town Hall - Ratusz)  เป็นสถาปัตยกรรมทรงกอธิคที่งดงามที่สุดแห่งหนึ่งของโปแลนด์และยุโรปตะวันออก เริ่มสร้างปีค.ศ. 1290 จากนั้นได้มีการต่อเติมปรับปรุงเพิ่มเติมเรื่อยมาอีก 250 ปี หอคอย ของศาลาเมืองสูง 66 เมตรเป็นศิลปะเรเนสซองส์ มีตราประจำเมืองประดับอยู่ตั้งแต่ปีค.ศ. 1536 ส่วนด้านตะวันออกของศาลาเมืองมีนาฬิกาดาราศาสตร์ (astronomic clock) ที่ติดตั้งในปีค.ศ. 1580 โดยเข็มยาวที่บอกชั่วโมงมีรูปพระอาทิตย์ติดอยู่ ส่วนเข็มสั้นบอกนาทีมีรูปพระจันทร์ นอกจากนี้ที่อยู่ตามมุม 4 ด้านของนาฬิกาคือสัญลักษณ์โบราณของอียิปต์บอกฤดูกาล 4 ฤดู
              สถาปัตยกรรมภายในศาลาเมืองเป็นรูปทรงกอธิค ส่วนด้านนอกได้รับการตกแต่งด้วยงานประติมากรรมที่เป็นศิลปะกอธิคอย่างละเอียดและงดงามยิ่ง ดังเช่น ด้านทิศใต้ของอาคารเป็นงานประติมากรรมจากศตวรรษ   ที่ 19 ด้วยรูปปั้นคนสำคัญๆ ของวรอช-วาฟ เรียกว่า “Gallery of Townpeople”  แต่ก่อนศาลาเมืองคือศูนย์กลางการบริหารงานของวรอช-วาฟ และนับว่าเป็นความโชคดีที่ศาลาเมืองไม่ได้ถูกทำลายจากสงครามโลกครั้งที่ 2 เพียงแต่เสียหายแค่ร้อยละ 10 เท่านั้น ปัจจุบันภายในศาลาเมืองคือพิพิธภัณฑ์ศิลปะ 
              ด้านหน้าของศาลาเมือง เป็นที่ตั้งของรูปปั้นนักเขียนและนักกวีชาวโปแลนด์คือ อเลกซานเดอร์ เฟรโด (Aleksander Fredro ค.ศ. 1793-1876) ผู้มีชื่อเสียงจากการเขียนเรื่องขบขันเกี่ยวกับชนชั้นสูงของโปแลนด์ รูปปั้น ดังกล่าวถูกนำมาจากเมืองลวูฟเมื่อปีค.ศ. 1956 เพื่อมาตั้งแทนที่รูปปั้นจักรพรรดิไกเซอร์ วิลไฮล์ม (Emperor Kaiser Wilhelm) ของเยอรมัน 

โบส์ถเซนต์อลิซเบธ  (The Church of St. Elizabeth) เป็นโบส์ถเก่าแก่และมีหอคอยสูงที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองวรอช-วาฟ มีสถาปัตยกรรมทรงกอธิค สร้างเมื่อกลางศตวรรษที่ 14 ส่วนหอคอยนั้นสร้างเสร็จในปี  ค.ศ. 1482 (หอคอยเดิมเคยสูงถึง 128 เมตร ปัจจุบันสูง 91 เมตร) โบส์ถเซนต์อลิซเบธเป็นโบส์ถของคริสต์ศาสนานิกายโปรเตสแตนท์มาตั้งแต่ปีค.ศ. 1525 โบส์ถหลังนี้เคยถูกไฟไหม้และถูกทำลายเสียหายจากสงครามต่างๆ จนต้องมีการบูรณะซ่อมแซมใหญ่หลายครั้งมาจนถึงที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน ภายในโบส์ถมีแท่นบูชา (altars) ศิลปะกอธิคและเรอเนซองส์ที่งดงามยิ่ง อีกทั้งมีหลุมฝังศพของบุคคลสำคัญๆ ของเมือง

                                             

มหาวิทยาลัยวรอช-วาฟ (Wroclaw University)  แต่เดิมเป็นเพียงสถาบันการศึกษาที่สร้างเมื่อปี ค.ศ.1702 โดยพระราชบัญชาของจักรพรรดิลีโอโปลที่ 1 (Emperor Leopold I) และต่อมาได้กลายเป็นมหาวิทยาลัยวรอช-วาฟในปีค.ศ. 1811 ทั้งนี้ในช่วงสงครามออสเตรีย-ปรัสเซียปีค.ศ. 1741 สถาบันการศึกษา แห่งนี้ได้ถูกเปลี่ยนเป็นโรงพยาบาล คุก และร้านอาหาร ส่วนช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 มหาวิทยาลัย วรอช-วาฟกลายเป็นศูนย์บัญชาการของทหารนาซีเยอรมัน หลังจากสงคราม อาจารย์ของมหาวิทยาลัยที่เป็นชาวเยอรมันทั้งหมดถูกขับออกไป และให้อาจารย์จากมหาวิทยาลัยลวูฟ (University of Lwow) ย้ายเข้ามาสอนแทน นับเป็นครั้งแรกที่มีอาจารย์ชาวโปแลนด์สอนที่มหาวิทยาลัยวรอช-วาฟ
             อาลอยส์ อัลซไฮเมอร์ (Alois Alzheimer) จิตแพทย์ชาวเยอรมัน (เกิดปีค.ศ. 1864) ผู้ทำการศึกษาวิจัยและค้นพบโรคภาวะสมองเสื่อมเมื่อปีค.ศ. 1906 ทำให้โรคนี้ได้ชื่อว่า โรคอัลซไฮเมอร์ หรือ อัลไซเมอร์เขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นอาจารย์จิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยวรอช-วาฟ (ขณะนั้นเป็นส่วนหนึ่งของเยอรมันเรียกว่า มหาวิทยาลัยเบรเสลา (University of Breslau) เมื่อปีค.ศ. 1912 แต่ระหว่างเดินทางมาโดยรถไฟ เขาไม่สบาย อย่างมากและในที่สุดได้เสียชีวิตลงด้วยโรคหัวใจที่เมืองเบรเสลา (วรอช-วาฟในปัจจุบัน) เมื่อปีค.ศ. 1915 อายุ 51 ปี
              มีผู้จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแห่งนี้ที่มีชื่อเสียงของโปแลนด์และของโลกหลายคน รวมทั้งผู้ที่เคยได้รับรางวัลโนเบล 9 คน ซึ่งหนึ่งในจำนวนนี้คือนักนิวเคลียร์ฟิสิกส์ชื่อ แมกซ์ บอร์น (Max Born)
              นอกจากนี้โรเบิร์ต บุนเซน (Robert Bunsen – 1811-1899) นักเคมีชาวเยอรมัน ยังเคยเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยวรอช-วาฟ (ขณะนั้นคือมหาวิทยาลัยเบรเสลา) เขาเป็นผู้พัฒนาตะเกียงก๊าซให้เปลวไฟปราศจากสี ซึ่งช่วยให้ทำการศึกษาสีของเปลวไฟได้ง่าย จึงได้มีการตั้งชื่ออุปกรณ์ในห้องทดลองตามชื่อของเขาว่า Bunsen Burner
              อาคารที่สวยงามและมีชื่อเสียงที่สุดของมหาวิทยาลัยคือ หอประชุมลิโอโปล (Aula Leopoldina)   ตกแต่งภายในด้วยศิลปะบาโรก (Baroque) อย่างงดงามวิจิตรบรรจงยิ่ง มีงานแกะสลักปูนปั้น งานประติมากรรม โดยฟรานส์ โจเซฟ แมนโกลด์ท (Franz Josef Mangoldt) และงานจิตรกรรมของคริสตอฟ แฮนด์เกอร์ (Christoph Handke) 

หอสมุดออสโสลิเนียม (The Ossolineum Library)  แต่เดิมเป็นอาคารหมู่ของพระราชวัง ตั้งอยู่บน    ริมฝั่งแม่น้ำโอดรา ถูกทำลายเสียหายในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงได้มีการสร้างขึ้นมาใหม่ด้วยสถาปัตยกรรมบาโรกในสมัยศตวรรษที่ 17 เคยใช้เป็นโรงพยาบาล โรงเรียน และวิทยาลัย ปัจจุบันเป็นหอสมุดสำหรับการศึกษาค้นคว้าและเก็บเอกสารสำคัญของชาติ ถือว่าเป็นหอสมุดที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโปแลนด์
             หอสมุดออสโสลิเนียมจัดตั้งขึ้นในปีค.ศ. 1871 โดยโจเซฟ แมกซิมิเลียน ออสโสลิเนียม (Jozef Maksymillian Ossolinski) ได้เริ่มเก็บสะสมหนังสือและเอกสารสำคัญต่างๆ ของโปแลนด์ระหว่างที่เขาอยู่ที่    กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย เพราะช่วงนั้นโปแลนด์ถูกแบ่งปันดินแดนออกไปจนไม่เหลือเป็นประเทศ ทำให้เขาเห็นความจำเป็นที่ต้องเก็บเอกสารที่มีค่าเกี่ยวกับโปแลนด์ไว้ให้ได้มากที่สุด ห้องสมุดส่วนตัวของเขาขยายออกมากขึ้นจนกลายเป็นหอสมุดใหญ่ และถูกย้ายไปอยู่ที่ลวูฟ (ปัจจุบันอยู่ในประเทศยูเครน) จนกระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ย้ายกลับมาอยู่ที่วรอช-วาฟ อย่างไรก็ตามรัฐบาลคอมมิวนิสต์ที่ปกครองโปแลนด์อยู่ขณะนั้นได้ยึดหนังสือและเอกสารดังกล่าวไปมากกว่าร้อยละ 80 ที่เหลืออยู่ปัจจุบันคือที่เก็บอยู่ในห้องสมุด  ออสโสลิเนียมนั่นเอง ตัวอย่างเอกสารสำคัญและมีค่ายิ่งได้แก่ งานเขียนของอาดัมส์ มิชเกียวิทช์ (Adam Mickiewicz) และของนิโคลัส โคเปอร์นิคัส (Nicolas Copernicus) นอกจากนี้มีภาพวาดโดยเรมบรานท์ (Rembrant) และดูเรอร์  (Durer) เป็นต้น

หอประชุมประชาชน (People’s Hall – Hala Ludowa)  มีชื่อเดิมว่า หอประชุมฉลองครบรอบ 100 ปี (Centennial Hall) สร้างเพื่อเป็นอนุสรณ์ครบรอบ 100 ปีที่โปแลนด์ร่วมกับกองทัพพันธมิตรสู้รบชนะกองทัพ นโปเลียนที่เมืองไลปซิกส (Lipsk หรือ  Leipzig ในภาษาเยอรมัน) ออกแบบโดยแมกซ์ เบอร์ก (Max Berg) สร้าง  ปีค.ศ. 1911-1913 ในขณะนั้นถือเป็นสิ่งก่อสร้างด้วยคอนกรีตและเหล็กที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในยุโรป บนยอดตรงส่วนกลางของหอประชุมเป็นโดมทรงกลมขนาดใหญ่ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 65 เมตร (200 ฟุต) กล่าวกันว่าเป็นการสร้างโดมที่ใหญ่ที่สุดนับจากยอดโดมแพนทีออน (Pantheon) ของอิตาลี หลังคาโดมเปิด-ปิดได้โดยระบบพิเศษ ภายในหอประชุมจุคนได้ 7 พันคน ปัจจุบันหอประชุมนี้ใช้เป็นที่แสดงคอนเสิร์ต โรงละคร สนามกีฬา และงานแสดงสินค้า เป็นต้น หอประชุมประชาชนไม่ได้ถูกทำลายจากสงครามโลกครั้งที่ 2 

องค์การยูเนสโก (UNESCO) ยกย่องให้หอประชุมประชาชนแห่งนี้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม (World Cultural Heritage) เมื่อปีค.ศ. 2006
             ด้านนอกหอประชุมประชาชนมีอาคารต่างๆ รายรอบ ส่วนลานด้านหน้าก่อนถึงทางเข้าหอประชุมที่   ไว้ใช้เป็นที่จัดนิทรรศการนั้น มีงานประติมากรรมเป็นแท่งเหล็กแหลม เรียกว่า “Iglica” สูง 96 เมตร ซึ่งแต่ก่อนเคยมีความสูงถึง 106 เมตร กล่าวกันว่าไม่กี่ชั่วโมงหลังจากที่ยกแท่งเหล็กสูงขึ้นตั้งแสดง ก็เกิดฟ้าผ่ายอดแหลม ทำให้แท่งเหล็กล้มลงมา ในปีค.ศ. 1964 ได้มีการลดระดับยอดแหลมลงเพื่อความปลอดภัย เหลือเพียง 96 เมตรดังปัจจุบัน แท่งเหล็กแหลม “Iglica”  ออกแบบโดย สตานิสลาฟ แฮมเปล (Stanislaw Hampel) ตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1948 เป็นของขวัญที่ประชาชนรัสเซียมอบให้กับประชาชนโปแลนด์

ห้องแสดงภาพวาด Panorama of Raclawice เป็นอาคารรูปทรงกลม ภายในบรรจุภาพวาดที่สำคัญยิ่งของโปแลนด์ คือภาพการต่อสู้ที่รัชวาวิเช (Panorama of Raclawice) ซึ่งเป็นการต่อสู้ที่โปแลนด์ได้รับชัยชนะ จากรัสเซียเมื่อวันที่ 4 เมษายน ค.ศ. 1794 ที่รัชวาวิเช ภาพวาดดังกล่าวมีขนาดยาวและสูงมาก (ยาว 120 เมตร สูง 15 เมตร) วาดโดยจิตรกร ยาน สไตกา (Jan Styka) และวอยเชค คอสแสก (Wojciech Kossak) ใช้เวลาวาด 9 เดือน ได้มีการพบเมื่อปีค.ศ.1894 ว่าภาพวาดนี้อยู่ที่ลวูฟ ต่อมาจึงนำกลับมาโปแลนด์เมื่อปีค.ศ. 1946 และนำมาแสดงที่เมืองวรอช-วาฟในปีค.ศ.1985 ในอาคารทรงกลมที่สร้างขึ้นเพื่อแสดงภาพวาดนี้โดยเฉพาะ
       

ออสตรุฟ ตุมสกี (Ostrow Tumski - Cathedral Island)  แต่ก่อนบริเวณนี้เคยเป็นเกาะในแม่น้ำโอดรา

               (Odra River) และ ณ ที่แห่งนี้คือจุดเริ่มต้นประวัติศาสตร์ของเมืองวรอช-วาฟนั่นเอง เพราะเป็นที่ที่ดยุคจากเชก ชื่อ วราติสเลา ที่ 1 แห่งโบฮีเมียมาเริ่มสร้างเมืองเมื่อต้นศตวรรษที่ 10 และในปีค.ศ. 1000 ก็ได้เป็นที่ตั้งของหัวหน้าสังฆมณฑล (seat of the Bishop) ด้วย ในปีค.ศ. 1292 เมืองวรอช-วาฟย้ายไปอยู่ ฝั่งซ้ายของแม่น้ำโอดรา แต่บริเวณดังกล่าวยังคงความสำคัญอยู่ จนถึงศตวรรษที่ 19 ได้มีการสร้างถนนเชื่อมระหว่างฝั่งของแม่น้ำโอดราทำให้ออสตรุฟ ตุมสกีไม่มีสภาพที่เป็นเกาะอีกต่อไป ส่วนสะพานตุมสกี (Tumski Bridge) ได้เชื่อมเกาะตุมสกีกับเกาะเปียเสก (Piasek Island – Sand Island) ซึ่งสะพานที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้สร้างเมื่อปีค.ศ. 1888-1892
               ออสตรุฟ ตุมสกี มีถนนเล็กๆ เดินถึงกันได้โดยรอบ ได้ชื่อว่าเป็นเกาะแห่งโบส์ถ (Cathedral Island) เพราะมีโบส์ถอยู่มากมายในบริเวณนี้ ดังเช่น  บส์ถเซนต์จอห์น (Cathedral of St. John the Baptist) เป็นสถาปัตยกรรมกอธิคที่โดดเด่น มีหอคอยและยอดแหลมอยู่ 2 ข้างทางด้านหน้าของโบส์ถ มีงานประติมากรรมและการแกะสลักปูนปั้นที่งดงามมาก โบส์ถเซนต์จอห์นแห่งนี้เริ่มสร้างเมื่อปี  ค.ศ. 1244 และถือเป็นอาคารที่สร้างด้วยอิฐแห่งแรกของโปแลนด์ งานก่อสร้างโบส์ถเซนต์จอห์นยังคงดำเนินเรื่อยมานานอีก 500 ปี สถาปัตยกรรมภายในโบส์ถเป็นทรงกอธิคที่มีเพดานสูงแหลม ประดับด้วยกระจกสีรอบด้านที่เป็นเรื่องราวทางศาสนา ส่วนแท่นบูชาหลักของโบส์ถได้รับการประดิษฐ์ตกแต่งด้วยงานประติมากรรมและการทาสีจากเมือง   ลูบลิน (Lublin) เมื่อปีค.ศ. 1522 เป็นรูปพระแม่มารีกำลังนอนหลับ (The Virgin Mary falling asleep) นอกจากนี้ภายในโบส์ถมีออร์แกนที่ใหญ่ที่สุดในโปแลนด์ ซึ่งก่อนสงครามถือว่าใหญ่ที่สุดในโลกด้วย
               โบส์ถเซนต์จอห์นได้รับความเสียหายอย่างหนักจากสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ได้รับการบูรณะซ่อมแซมขึ้นใหม่แต่ก็ยังคงมีร่องรอยกระสุนอยู่ตามกำแพงโบส์ถให้เห็นอยู
              นอกจากนี้ยังมีโบส์ถเซนต์แมรี (Church of St. Maryบนเกาะเปียเสก เป็นอาคารอิฐขนาดใหญ่ที่เป็นสถาปัตยกรรมกอธิคทั้งด้านนอกและด้านใน ประตูทางเข้ารูปทรงกอธิคมีความเรียบง่ายแต่โดดเด่น โบส์ถเซนต์แมรี สร้างในช่วงที่สองของศตวรรษที่ 14 บนพื้นที่เดิมที่เคยมีอาคารรูปทรงโรมาเนสก์ (Romanesque) ในสมัยศตวรรษที่ 12 ตั้งอยู่ แม้โบส์ถแห่งนี้ได้ถูกทำลายเสียหายจากสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ยังคงหลงเหลือบางส่วน  ให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน ภายในโบส์ถยังเป็นที่เก็บสะสมแท่นบูชารูปทรงกอธิคที่นำมาจากโบส์ถอื่นๆ ในแคว้น ซิเลเซียด้วย
              โบส์ถสำคัญของออสตรุฟ ตุมสกียังมีอาทิ โบส์ถ Holy Cross เป็นโบส์ถที่มีอาคาร 2 ชั้น เริ่มสร้างในปีค.ศ. 1288 โดยเฮนรีที่ 4 (Henry IV, the Pious) และสร้างต่อเรื่อยมาอีกหลายร้อยปี โบส์ถที่อยู่ส่วนบนถูกทำลายเสียหายอย่างหนักจากสงครามโลกครั้งที่ 2 และงานตกตกแต่งภายในสูญเสียหมดสิ้น หลุมฝังศพของผู้ก่อตั้งโบส์ถแห่งนี้ได้ถูกย้ายไปอยู่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติ
              ห่างจากเมืองวรอช-วาฟไปทางตะวันตกเฉียงใต้ 70 กิโลเมตร มีสถานที่ที่น่าสนใจอีก นั่นคือ

ปราสาทฌองช์ (Ksiaz Castle) ตั้งอยู่ชานเมือง Walbrzych  เป็นปราสาทที่ใหญ่ที่สุดในแคว้นซิเลเซีย ตั้งอยู่บนภูเขาที่ล้อมรอบด้วยป่าไม้ ปราสาทฌองช์สร้างในศตวรรษที่ 13 (ค.ศ.1288-1292) โดยเจ้าชายบอลโก ที่ 1 (Prince Bolko I the Stern) เชื้อสายราชวงศ์เปียร์สของโปแลนด์ เพื่อเป็นที่มั่นทางทหาร ต่อมาได้กลายเป็นพระราชวังสำหรับอยู่อาศัยของราชวงศ์ ปราสาทฌองช์ตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่ช่วยปกป้องเส้นทางการค้าของซิเลเซียกับเชก
              ปีค.ศ. 1392 ปราสาทฌองช์ถูกเปลี่ยนมือไปเป็นของกษัตริย์แห่งเชก  แต่ต่อมาในปีค.ศ. 1509 ปราสาท ฌองช์และคฤหาสถ์อื่นๆ กลายเป็นของคอนราด วอน ฮอชเบอร์ก แห่งไมเซน (Conrad von Hochberg of Meissen)  ซึ่งเป็นครอบครัวขุนนางชั้นสูงที่มีอำนาจมากของแคว้นซิเลซีย ระหว่างที่ครอบครัวฮอชเบอร์กเป็นเจ้าของปราสาทนี้ ก็ได้ทำการปรับปรุงต่อเติมอยู่เรื่อยมา รวมทั้งการสร้างสวนดอกไม้และพืชพันธ์นานาชนิดโดยรอบ
              ปราสาทฌองช์ถูกทำลายไปมากในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทหารนาซีเยอรมันต้องการเปลี่ยนให้เป็นที่บัญาการทหารของฮิตเลอร์ มีการขุดเจาะอุโมงค์ใต้ภูเขา Owl ที่ปราสาทนี้ตั้งอยู่ด้วย ทหารนาซียึดปราสาท ฌองช์ในปีค.ศ. 1941 เจ้าของปราสาทคนสุดท้ายคือเจ้าหญิงแมรี เธเรซา โอลิเวีย (เดซี่) คอร์นวอลลิสเวสต์ (Princess Mary Theresa Olica “Daisy” Cornwallis-West 1873-1943) ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในงานการกุศลและเคยทำหน้าที่เป็นพยาบาลในโรงพยาบาลสนามระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 ด้วย  การที่ปราสาท ฌองช์ถูกพวกนาซียึดไปก็เพราะบุตรชายคนโตของเจ้าหญิงเดซี่ได้เข้าร่วมการสู้รบในกองทหารอังกฤษ ขณะที่บุตรชายคนเล็กเข้าร่วมในกองทหารโปแลนด์เพื่อต่อสู้กับเยอรมัน หลังจากที่ปราสาทถูกยึดไป เจ้าหญิงเดซี่ได้ย้ายไปอยู่ที่คฤหาส์ถในเมือง Walbrzych จนเสียชีวิตในปีค.ศ. 1943
              หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปีค.ศ. 1945 ปราสาทฌองช์ถูกยึดโดยกองทัพแดง (Red Army) ของรัสเซีย   ทำให้ปราสาทเสียหายไปมากขึ้น จนกระทั่งได้รับกลับให้มาอยู่ในการดูแลของสำนักงานผู้ว่าการแคว้นซิเลเซีย จึงได้มีการปรับปรุงซ่อมแซมจนปัจจุบันเปิดให้ประชาชนเข้าชมได้
              สถาปัตยกรรมของปราสาทฌองช์เป็นรูปทรงกอธิค ภายในมีห้องต่างๆ มากมาย ตกแต่งอย่างสวยงาม

ปราสาทกรอดโน (Grodno Castle)   ในหมู่บ้านซากูร์เช ชล๊องสเก (Zagorze Slaskie)  แคว้นซิเลเซียตอนล่าง ปราสาทกรอดโนตั้งอยู่บนยอดเขาชอยนา (Mt. Choina) ที่สูงจากระดับน้ำทะเล 450 เมตร นับเป็นปราสาทที่สร้างเป็นป้อมปราการจากยุคกลางที่เคยสำคัญยิ่งแห่งหนึ่งของโปแลนด์  มีหอคอยสูงใหญ่ ปราสาทกรอดโนสร้างเมื่อปลายศตวรรษที่ 13 โดยเจ้าชายบอลโกที่ 1 เช่นเดียวกับปราสาทฌองช์  ต่อมาถูกเปลี่ยนเจ้าของเรื่อยมาจนอยู่ในสภาพที่เสื่อมลง  เคยมีการบูรณะซ่อมแซมครั้งใหญ่ระหว่างปีค.ศ.1907-1929  ปัจจุบันบางส่วนของปราสาทเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ ภาพวาดจากศตวรรษที่ 18-19 และอาวุธโบราณ
              ห่างจากหมู่บ้านซากูร์เช ชล๊องสเกไปทางใต้ไม่กี่กิโลเมตร เป็นอุโมงค์ใต้ดินที่ขุดขึ้นอย่างลับๆ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยนักโทษของค่ายกักกันโรกอซนิชา (Rogoznica concentration camp)

ปราสาทบอลคูฟ (Bolkow Castle)  เป็นปราสาทของดยุคแห่งชวิดนิชา-ยาวอร์ (Swidnica-Jawor) อยู่ในแคว้นซิเลซียตอนล่าง ตั้งอยู่บนเนินเขาเหนือแม่น้ำ Nysou Szalona ห่างจากเมืองยาวอร์ (Jawor) ไปทางใต้   20 กิโลเมตร สร้างขึ้นเมื่อกลางศตวรรษที่ 13 โดยดยุคโบลสวาฟ โรกัตคา ที่ 2 (Duke Boleslaw Rogatka  II)  เพื่อเป็นป้อมปราการ มีหอคอยสูง 25 เมตร และพระราชวังภายในที่เป็นสถาปัตยกรรมเรเนสซองส์                
               ปราสาทบอลคูฟเคยถูกกษัตริย์จอร์จของอาณาจักรโบฮีเมีย (King George of Bohemia) เข้าตีเมื่อปี ค.ศ. 1463 แต่ชาวบ้านช่วยกันป้องกันไว้ได้ อย่างไรก็ตามในช่วงสงคราม 30 ปี (Thirty Years’ War) ของยุโรป ปราสาทบอลคูฟถูกยึดครองโดยกองทหารสวีเดน หลังสงครามปราสาทแห่งนี้ได้ถูกเปลี่ยนเจ้าของเรื่อยมา อีกทั้งเคยถูกปล้นและทำลายหลายครั้ง จนถึงศตวรรษที่ 16 ได้รับการบูรณะซ่อมแซมขึ้นมาใหม่โดยจาคอบ ปาร์ (Jakob Paar) ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น 

จำนวนผู้อ่านบทความ  free hits